จากบทความครั้งที่แล้ ได้กล่าวถึง กิจกรรมการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีอยู่  5 หัวข้อ คือ  การพยากรณ์  การกำหนดเป้าหมาย  การวางแผนกลยทุธ์  การปฏิบัติตามแผน  และการประเมินแผนงาน โดยบทความที่แล้วได้กล่าวถึง เรื่อง การพยากรณ์ และ การกำหนดเป้าหมาย ไปบ้างแล้ว ซึ่งในฉบับนี้จะกล่าวถึง การวางแผนกลยุทธ์  การปฏิบัติตามแผน  การประเมินแผนงาน พร้อมยกตัวอย่างมาเป็นที่เข้าใจดังต่อไปนี้

 

การวางแผนกลยุทธ์(Strategic Planning)
เป็นการพยากรณ์และกำหนดเป้าหมายทรัพยากรมนุษย์ต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์การ ในกรณีมุ่งเน้นกลยุทธ์ขององค์การมุ่งสู่คุณภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ โดยมุ่งสู่การเตรียมความพร้อมด้านผู้บริหารที่มีคุณภาพ เสริมความเป็นผู้นำ และการเตรียมทรัพยกรมนุษย์ที่มีคุณภาพ โดยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

จากแผนภาพข้างต้น การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ต้องมีความเชื่อมโยงกับองค์การ โดยเริ่มตั้งแต่ วิสัยทัศน์  พันธกิจ และค่านิยมขององค์การ ว่ามีกลยุทธ์หลักอะไรบ้างที่ได้วางไว้สำหรับปีนั้นๆ เพื่อที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะการวางกลยุทธ์ด้านคนจะต้องออกแบบระบบการบริหารที่เกื้อหนุน เช่น การวางแผนกำลังคน  การสรรหาและคัดเลือก  การบริหารผลตอบแทน และการบริหารสวัสดิการ ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกับกลยุทธ์องค์การ แล้วกลยุทธ์องค์การก็ต้องสอดรับกับกลยุทธ์ธุรกิจด้วย ในการวางแผนกลยุทธ์ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

ตามแผนภาพ การกำหนดกลยุทธ์การวางแผนทรัพยกรมนุษย์ ต้องคำนึงถึงปัจจัย  4 ประการ คือ

1. โครงสร้างขององค์การ (Organization Strategy)  การกำหนดกลยุทธ์ที่ผู้บริหารต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก และต้องมีความสอดคล้องกับโครงสร้างองค์การ กล่าวคือ องค์การได้มีการจัดโครงสร้างในลักษณะใด เช่น เป็นแบบแบนราบ หรือเป็นแบบลำดับชั้น  ถ้าเป็นแบบลำดับชั้นมีสายการบังคับบัญชาที่ยาว กลยุทธ์ที่กำหนดจะต้องพิจารณาว่า ให้พนักงานระดับใดให้เข้ามามีส่วนร่วมบ้าง เพราะการจัดองค์การในลักษณะนี้จะมีหัวหน้าค่อนข้างมาก การกำหนดกลยุทธ์จึงต้องมีระยะเวลาให้กับพนักงานเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า การจัดโครงสร้างแบบแบนราบ เป็นต้น

2. อุปนิสัยและค่านิยมขององค์การ (Characteristic Strategy) การกำหนดกลยุทธ์จึงต้องพิจารณา ค่านิยมและแนวปฏิบัติที่พนักงานได้ปฏิบัติเป็นระยะเวลานานและเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งไปเสริม วิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์การให้มีประสิทธภาพ  การกำหนดกลยุทธ์ด้านคน ถ้ามีความสอดคล้องต่อค่านิยมหลักขององค์การด้วยแล้ว จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดแรงผลักดันให้ กลยุทธ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จมากขึ้นตามไปด้วย

3. ความสามารถหลักขององค์การ (Core Competency)   เป็นจุดแข็งขององค์การที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ การกำหนดกลยุทธ์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ไปเสริมแรงกับความสามารถหลักขององค์การด้วยแล้ว จะทำให้ความแข็งแกร่งขององค์การมีเพิ่มขึ้น โอกาสของคู่แข่งจะเข้าในธุรกิจและตามทันค่อนข้างยาก

4. สิ่งแวดล้อมขององค์การ (Environment) ในชุมชนข้างเคียงขององค์การที่ได้ตั้งอยู่ องค์การต้องอาศัยชุมชน อบต. หรือเทศบาลที่เป็นหน่วยงานที่ต้องติดต่อประสานงานอยู่กับองค์การภาครัฐอยู่เป็นประจำ ถ้าองค์การกำหนดกลยุทธ์ไปแล้ว ไม่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายนอกองค์การ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น เสียภาษีเพิ่มขี้น

การวางแผนกลยุทธ์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่ได้อธิบายถึงปัจจัยสำคัญทั้งสี่ข้อมาแล้วนั้น ผู้เขียนอยากจะให้เห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในการกำหนดกลยุทธ์ ว่าสิ่งที่ได้กำหนดไปนั้นมีทิศทางที่ชัดเจน และถูกต้องตามกลยุทธ์ขององค์การหรือไม่ จึงของอธิบายด้วยแผนภาพถัดไปดังต่อไปนี้

hr perfor indicator

จากแผนภาพด้านบน สมมุติว่าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ได้ทราบถึงเป้าหมายขององค์การแล้วว่า องค์การกำหนดกลยุทธ์ในลักษณะใด กลยุทธ์องค์การ อาจจะเป็นเชิงรุกและเชิงรับ ขึ้นอยู่กับการทำแผนเชิงธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะต้องทำการวิเคราะห์  SWOT เพื่อกำหนดทิศทางขององค์การ และสิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ต้องทำในอันดับต่อไปก็คือ การตั้งภารกิจหลักของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ว่า อะไรคือโจทย์ที่ บุคคลต้องตอบสนองความต้องการตามเป้าหมายขององค์การ  ซึ่งก่อนที่จะหาคำตอบสิ่งเหล่านี้ จะต้องวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่า จุดอ่อน จุดแข็ง หรือสถานะของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร  แล้วจึงมาถึงขั้นตอนของการกำหนดกลยุทธ์ด้านการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ โดยจะต้องหาคำตอบให้ได้ว่า จะทำอย่างไรให้โจทย์ที่ตั้งไว้บรรลุเป้าหมายขององค์การ

เมื่อกำหนดแผนกลยุทธ์ออกมาได้ตามสิ่งที่องค์การคาดหวังแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จะต้องทำความเข้าใจกับแผนกลยุทธ์ที่กำหนดออกมานั้นมาเป็น แผนงานและโครงการ โดยทำการมอบหมายให้แต่ละแผนกไปดำเนินการเขียนแผนงาน/โครงการ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วย วัตถุประสงค์ของแผนงาน   ตัวชี้วัดความสำเร็จ  ผู้รับผิดชอบ  วันเวลาที่แล้วเสร็จ เป็นต้น  สมมุติว่าองค์การได้วิเคราะห์กลยุทธ์ขององค์การแล้ว ซึ่งมีแผนงานด้านการการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เรื่อง การพัฒนาศักยภาพ และการสร้างความสุขในการทำงาน  กลยุทธ์การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ของทางฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ก็จะต้องกำหนดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์องค์การ  เพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายขององค์การ ตามที่ได้อธิบายมานั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่าง การกำหนดกลยุทธ์มาเป็นตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้

จากแผนภาพตัวอย่างการกำหนดกลยุทธ์ การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ มีอยู่  3 กลยุทธ์หลักๆ คือ

1.การพัฒนา ทักษะและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้องค์การได้ประสบความสำเร็จตามมาตรฐานที่ได้ตั้งไว้

2.การทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีสุขภาพ พลานามัยแข็งแรงและบรรยากาศในการทำงานที่มีความสุข

3.การสรรหาและคัดเลือกพนักงานที่มีทักษะและความสามารถให้ได้ครบตามที่องค์การต้องการ

 

นั่นคือการกำหนดกลยุทธ์หลักที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ได้วางแผนไว้ ซึ่งผู้บริหารสูงสุดของด้านทรัพยากรมนุษย์ต้องกระจายแผนกลยุทธ์ดังกล่าวให้แต่ละแผนกไปดำเนินการจัดทำแผนและโครงการ รองรับ เพื่อที่จะให้กลยุทธ์นั้นประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น  ซึ่งผู้เขียนจะขออธิบายในรายละเอียดในตอนต่อไป ให้เข้าใจยิ่งขึ้น ว่า เมื่อกำหนดกลยุทธ์แล้ว แต่ละแผนกได้นำแผนกลยุทธ์ไปทำแผน Action plan เพื่อกำหนดตัวชี้วัดให้มีความ SMART  เกิดความชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ มีผู้รับผิดชอบ และมีระยะเวลาแล้วเสร็จ  ซึ่งแผนของแต่ละแผนกได้กำหนด KPI ให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของฝ่าย และสอดคล้องกับองค์การ  แค่นั้นยังไม่พอผู้เขียนขอเสริมว่า ตัวชี้วัดไม่ใช่แต่จะให้งานบรรลุความสำเร็จตามเป้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีคุณภาพของงานเข้ามามีบทบาทด้วย  การวัดความสำเร็จของงานอาจไม่สะท้อนถึงคุณภาพเลยก็ได้ ซึ่งจะมีตัววัดที่องค์การต้องคำนึงถึงก็คือ  KQI  ในรายละเอียดของแผนขอให้ผู้อ่านได้โปรดติดตามฉบับต่อไปครับ

 

ดร. กฤติน กุลเพ็ง                

“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”