เมื่อพนักงานปฏิบัติงานภายในองค์กร  สิ่งที่ต้องได้รับเมื่อยามเจ็บป่วย ไข้  บางบริษัทได้จัดสวัสดิการ การรักษาพยาบาลเอาไว้ โดยอยู่ในรูปของงบประมาณของบริษัทแต่ละปี หรืออาจจะเป็นลักษณะในรูปแบบประกัน ชีวิต/ประกันอุบัติเหตุ  ซึ่งการจัดสวัสดิการจะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น สวัสดิการเงินกู้  สวัสดิการหอพัก  สวัสดิการเงินช่วยเหลือค่าทำศพ  เป็นต้น

สิ่งที่ผู้เขียนจะขอยกเป็นตัวอย่างในภาพรวม ของรูปแบบการจัดสวัสดิการพนักงาน  โดยฐานะที่เป็นหัวหน้า/ผู้จัดการ  ต้องเอาใจใส่ลูกน้องที่อยู่ในสังกัดของตนเอง  เพื่อที่จะได้รับสวัสดิการที่รวดเร็วและพนักงานได้รับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที  ยกตัวอย่าง เช่น  ลูกน้องในสายงานได้รับอุบัติเหตุ จากการ ขับขี่รถจักรยานยนต์ มาปฏิบัติงานประสบอุบัติเหตุระหว่างทาง กรณีลักษณะเช่นนี้  ผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชา จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ เรื่อง การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลติดต่อประสานงาน หน่วยงาน HR  เข้าไปช่วยเหลือ  อีกแรงหนึ่งเพื่อตรวจสอบข้อมูลว่า  สวัสดิการประเภทใดอีกบ้างของพนักงานที่บริษัทมีไว้  และพนักงานสามารถได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น การประสบอุบัติเหตุดังกล่าวพนักงานได้เข้ารับการผ่าตัด จนถึงการดูแลด้านงบประมาณ การรักษาพยาบาลหมดแล้ว  จะมีแนวทางอย่างไรที่พอจะช่วยเหลือพนักงานเพิ่มเติมอีกบ้าง  ซึ่งในส่วนประเด็นปลีกย่อยลึกๆ ลงไป  หน่วยงานด้าน Line อาจจะไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญมากนัก จึงต้องอาศัยหน่วยงานทางด้าน HR  เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือพนักงานเพิ่มเติมสำหรับทำเรื่องเบิกเงิน และขออนุมัติใช้สวัสดิการของพนักงาน

บทบาทในฐานะที่เป็นหัวหน้า/ผู้จัดการ จะต้องเป็นแม่งานหรือนำร่องในการดำเนินการช่วยเหลือพนักงานที่อยู่ในสังกัดของตนเอง  เพื่อให้พนักงานที่เป็นลูกน้องได้ทราบว่า  หัวหน้าได้มีความเอาใจใส่ต่อลูกน้อง  มีความเป็นห่วงเป็นใย  และดำเนินการจัดการสำหรับสวัสดิการ สิ่งที่พนักงานต้องได้รับจากองค์กร  ว่าควรได้รับอะไรบ้าง  ซึ่งอาจจะเป็นการติดต่อประสานงานกับทางฝ่าย HR เพื่อให้ได้ข้อมูล เพิ่มเติมแล้วนำมาสื่อสาร ความคืบหน้าแก่ลูกน้องในสังกัดได้รับทราบ  ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จะได้ใจลูกน้องในระดับหนึ่งแล้ว การที่จะได้ใจลูกน้องมากยิ่งขึ้น  อาจจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ  ไม่เลือกปฏิบัติ  กระทำกับพนักงานทุกคนที่อยู่ในสังกัด  เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับพนักงาน  ให้ได้รับสวัสดิการที่ครบถ้วน และอย่างรวดเร็ว

บทบาทของ HR  สิ่งที่กระทำในอันดับแรก ก็คือการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบ ว่าสิ่งที่จะต้องให้ความช่วยพนักงานเป็นอันดับแรกว่ามีอะไรบ้าง เมื่อได้รับการประสานงานมา เช่น เมื่อพนักงานได้รับอุบัติเหตุ หน่วยงาน HR อาจจะต้องเตรียมโทรติดต่อโรงพยาบาลทำการปรึกษาแพทย์และให้การช่วยเหลืออย่างรีบด่วนหรือติดต่อรถพยาบาล เพื่อไปรับผู้บาดเจ็บถึงที่เกิดเหตุ  สิ่งเหล่านี้หน่วยงาน HR ไม่ใช่เพียงแต่มีความรอบรู้เรื่อง สวัสดิการเพียงอย่างเดียวแล้ว  แต่ต้องมีข้อมูลสวัสดิการและความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่สามารถหารือได้ เมื่อเกิดกรณีเร่งด่วน  ในลักษณะเช่นนี้  การเข้าไปช่วยเหลือพนักงานของบริษัท จะทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว หน่วยงาน HR ควรจะต้องมีการสำรวจสวัสดิการพนักงาน  เป็นประจำทุกปี  เพื่อตรวจสอบการปรับสวัสดิการให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา  และให้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานที่มีการประกาศปรับปรุงทุกๆ ปี  ฉะนั้นการจัดสวัสดิการที่ทัดเทียมกับกฎหมาย   และสามารถแข่งขันได้กับธุรกิจเดียวกัน  เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานที่อยู่ภายในบริษัทได้ลาออกไปอยู่ที่บริษัทอื่น  เพราะเนื่องจากบริษัทของตัวเอง ไม่ได้จัดสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงาน  ซึ่งในทางปฏิบัติ หน่วยงาน HR จะต้องมีการสำรวจสวัสดิการทั้งภายในและภายนอกองค์กร  โดยเฉพาะภายใน อาจจะใช้แบบสอบถาม การจัดสวัสดิการที่พนักงานสนใจ อยากให้บริษัทมีให้กับพนักงาน  และภายนอก HR อาจจะมีการเข้าไปร่วมกับชมรมการบริหารงานบุคคลที่มีโรงงานข้างเคียงเข้าร่วมการสำรวจทั้งโครงสร้างค่าจ้างและสวัสดิการ  ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลที่อัปเดท  อยู่ตลอดเวลาและเป็นการนำข้อมูลดังกล่าวมาให้ผู้บริหารองค์กรได้รับทราบ เพื่อเตรียมการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ด้านการออกแบบจัดสวัสดิการเชิงรุกต่อไป

สิ่งที่จูงใจสำหรับการจัดสวัสดิการให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อดึงดูดคน Gen Y เข้าสู่องค์กร ซึ่งบางแห่ง/ บางองค์กรใช้วิธี สร้างความแตกต่างในการจัดสวัสดิการ  เช่น การจัดสวัสดิการให้กับพนักงานที่ผ่านทดลองงานแล้ว โดยได้รับมูลค่าการทำศัลยกรรมจำนวนเงิน  20,000 บาท  ซึ่งโดยปกติระเบียบสวัสดิการของบริษัท จะไม่สามารถเบิกในกรณีได้  เพราะเป็นเกี่ยวกับ การเสริมความงาม ไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล  แต่ผู้บริหารบางองค์กรเห็นความสำคัญของเทรนแนวโน้ม ของคนรุ่นใหม่ว่ามีพฤติกรรมที่ชอบในเรื่องนี้เป็นสำคัญ  จึงได้ออกแบบสวัสดิการในเรื่องนี้ขึ้นมา  เพื่อดึงดูดผู้สมัครรุ่นใหม่ ให้เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้  จนทำให้ได้ผู้สมัคร  โดยที่ไม่ต้องไปลงทุนประชาสัมพันธ์ ใน Social Media  ให้เสียค่าใช้จ่าย เพราะสิ่งเหล่านี้จะคนภายในองค์กร  เป็นผู้กระจายข่าวกันแบบปากต่อปาก และเกิดกระแสใหม่ที่สร้างความแตกต่างสำหรับองค์กร  นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนพยายามยกเป็นตัวอย่าง ให้หน่วยงาน HR ออกแบบในสิ่งที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างกระแสสังคม เป็นการประชาสัมพันธ์องค์กร ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้สมัครงานอีกด้วย

การออกแบบลักษณะงานบางตำแหน่งงาน  ที่ไม่จำเป็นต้องมาทำงานที่บริษัท  ในเรื่องนี้ถ้าพูดถึงก็ยังไม่ถูกยอมรับจากผู้บริหารองค์กร  มากสักเท่าไร  แต่เมื่อถึงเวลาระยะหนึ่ง  สิ่งที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้  เริ่มเป็นไปได้มากขึ้น  เพราะว่าตำแหน่งงานดังกล่าว  ไม่มีผู้สมัครที่จะเข้ามานั่งทำงานภายในองค์กร และอยู่ในกฎเกณฑ์ ของบริษัทได้ จึงต้องลาออกไป  จนทำให้ผู้บริหารองค์กร จำเป็นที่ต้องมาวางระบบเรื่อง การจ้างงานบางตำแหน่งใหม่  โดยสามารถให้นั่งปฏิบัติงานที่บ้านได้ โดยกำหนดเป็นสัญญาว่า จะต้องส่งเอกสารในการปฏิบัติงานเป็นประจำทุกอาทิตย์/ทุกเดือน เป็นกี่ชิ้นงาน  ซึ่งในประเด็นนี้  เริ่มมีบางองค์กร  ได้มีการจ้างงานบางตำแหน่งแล้ว  เช่น นักออกแบบ นักกิจกรรม เป็นต้น ซึ่งกระแสเหล่านี้ มาจากประเทศแถบยุโรป อเมริกาที่ได้มีการดำเนินการจ้างงานในลักษณะนี้มานานแล้ว  ซึ่งได้มีการแชร์ทางโลกออนไลน์ ย่อมส่งผลถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ของเราด้วยเช่นกัน

 

 

ดร.กฤติน   กุลเพ็ง   กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ไอโอดีคอนเซาท์ติ้ง แอนด์เทรนนิ่ง จำกัด

วิทยากรและที่ปรึกษา ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน     ID line:  krittin6


  บทความ     
  624 views     Comments