เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า แนวโน้มของการทำงานของในภาครัฐและภาคเอกชนของทุกหน่วยงานย่อมเกิดภาวะที่เจอกับมรสุมที่เป็นปัจจัยภายนอกมากระทบ เช่น การประสบปัญหาภาวะน้ำมันแพง  ปัญหาของภัยธรรมชาติ และปัจจัยทางด้านการเมืองที่ผลกระทบต่อประชาชนคนไทย ซึ่งส่งผลให้มากระทบถึง การเมืองภายในบริษัทด้วยเช่นกัน ผลกระทบดังกล่าวย่อมส่งผลให้ เกิดความเครียดในการทำงานได้เช่นกัน ปัจจัยที่พุ่งเป้ามาที่ผู้บริหารเป็นอันดับแรกว่าจะนำพาองค์การให้มีความอยู่รอดอย่างไร จากปัญหาสภาวะน้ำมันแพง คำตอบคงไม่พ้น 2 วิธี คือ การเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น กับการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆลง เพื่อให้องค์การมีความอยู่รอดได้

 

ผู้บริหารก็ได้วางกลยุทธ์เพื่อให้องค์การผ่านพ้นกับวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยการใช้เครื่องมือที่เป็นที่ยอมรับของการบริหารจัดการเข้ามาใช้ เช่น   BSC  Competency  TQM และ CRM  ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวข้างต้นย่อมมีวีธีการ  ระบบ และตัวชี้วัดที่แตกต่างกันออกไป จากที่พนักงานเคยอยู่กันแบบสุขสบายโดยไม่ต้องมีใครมาคอยกำกับดูแล ตรวจสอบข้อมูลเป็นประจำทุกเดือน ทุกไตรมาส  เมื่อผู้บริหารได้นำเครื่องมือต่างๆ มาใช้แต่ไม่ได้ศึกษาความพร้อมของคนไทยที่เคยสุขสบายมาก่อนว่าจะยอมรับเครื่องมือนั้นได้หรือไม่ จึงทำให้เครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในเมื่องไทยไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก มักจะถูกต่อต้านจากพนักงาน หรือไม่ก็ทำให้พนักงานที่เป็นคนเก่ง (Talent ) ขององค์การได้เดินออกจากบริษัท เพราะว่าระบบที่นำมาใช้ไม่มีความยุติธรรมพอ มีแต่เอื้ออำนวยให้กับพวกพ้อง ซึ่งเป็นคนหมู่มากในองค์การ เป็นผู้กุมอำนาจเชิงบริหารเสียเอง ค่านิยมที่ดีๆ เริ่มเปลี่ยนไป คนที่ทำงานหนักมักไม่ได้ถูกเหลียวแลจากผู้บริหาร เพราะว่าผู้บริหารที่ถูกแต่งตั้งมาจากคนที่ไม่ได้ทำงานอย่างแท้จริง มองระบบไม่ออก ถ้าคนไหนทำงานเกินหน้าเกินตาหน่อยก็จะถูกเพ่งเล็งจากผู้บริหาร ที่มีคนใกล้ชิดคอยให้ข้อมูลที่ผิดๆ อยู่ตลอดเวลา  ถ้าผู้บริหารที่ฟังความข้างเดียวหรือฟังจากคนเหล่านี้ทุกวัน ก็อาจจะมีสิทธิเอนเอียงมายังผู้ที่ให้ข้อมูล  ซึ่งจะทำให้ตัดสินใจในการบริหารคนที่ผิดพลาดได้เช่นกัน

สำหรับผู้เขียน มีความเห็นว่า การนำเครื่องมือที่ดีๆ มาใช้ ในช่วงแรก เมื่อระบบยังไม่เข้าที่และยังไม่ลงตัว ไม่สามารถให้โทษแก่ผู้กระทำความผิดได้  การบริหารคนควรจะเน้น ให้รักษาคนดีเอาไว้ก่อน เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังให้กับพนักงานที่ทำดีเอาไว้ในองค์การ จะเห็นได้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อพนักงาน ถ้าจะนับรวมถึงปัจจัยภายในเข้ามาอีก ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดดันในการทำงานเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ในวิธีการแก้ไขในเบื้องต้น เราคงไปแก้ที่ปัจจัยทั้งสองปัจจัยไม่ได้ ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ใข สิ่งที่ทำได้ในทันที ไม่ต้องใช้พละกำลัง เวลา และอุปกรณ์เลยก็คือ การแก้ไขปรับปรุงที่ตัวเราเองก่อน ซึ่งจะขอนำเสนอ การสร้างความสุขในการทำงาน โดยการบริหารตนเองเพื่อไม่ให้เกิดความเเครียด ดังต่อไปนี้

 

1.  การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี 

การทำงานย่อมมีปัญหาเป็นธรรมดา อย่าแก้ปัญหาโดยการใช้อารมณ์ จะทำให้เครียดมากขึ้น ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาที่สาเหตุ เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม เพราะเมื่อแก้ปัญหาได้ ก็จะสบายใจ หายเครียด

2.  การบริหารเวลาอย่างเหมาะสม       

จะช่วยให้การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีเวลาเหลือสำหรับการพักผ่อน และครอบครัวทำให้เครียดน้อยลง  ควรทบทวนดูว่า ใช้เวลาแต่ละวันไปกับเรื่องใดบ้าง เพื่อการจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม ทั้งการทำงาน สังสรรค์ ครอบครัวและการพักผ่อน  ลองสังเกตเพื่อนร่วมงาน ที่บริหารเวลาได้ดีและลองทำตามดูอาจช่วยในการบริหารเวลาของตนเองได้

3. การปรับเปลี่ยนความคิด            

ส่วนหนึ่งมาจากความคิดของคนเรานั่นเอง ถ้าเรารู้จักปรับเปลี่ยนความคิดในแง่มุมใหม่ จะช่วยให้เครียดน้อยลงถ้ารู้สึกตัวเองคิดมากหาทางออกไม่ได้ควรหยุดคิดสักพักคิดให้ยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม คิดอย่างมีเหตุผล คิดอย่างที่คนอื่นคิด และคิดถึงคนอื่นบ้าง

4. การพักผ่อนหย่อนใจ    

หลังเลิกงานแล้ว ควรได้พักผ่อนหย่อนใจบ้าง   เพื่อผ่อนคลายจิตใจทำให้พร้อมที่จะกลับไปทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ   กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจมีอยู่มากมาย ควรเลือกตรงข้ามกับงานประจำ เช่น งานประจำนั่งโต๊ะทั้งวันยามว่างควรทำกิจกรรมกลางแจ้งเคลื่อนไหวร่างกายหรืองานประจำเป็นผู้ให้บริการ ยามว่างควรให้ผู้อื่นบริการเราบ้าง

5.  การรู้จักยืนยันสิทธิของตน      

ความเครียดอาจเกิดจากการยอมอ่อนข้อ    เกรงใจผู้อื่นมากเกินไป รู้จักยืนยันสิทธิของตนเองบ้าง จะทำให้เป็นตัวของตัวเองและเป็นเกรงใจต่อผู้อื่น สิทธิที่ควรรักษา คือสิทธิ ที่จะปฏิเสธอย่างมีเหตุผล สิทธิที่จะทำงานด่วนของตนให้เสร็จก่อน สิทธิที่จะไต่ถามเพราะความไม่เข้าใจ สิทธิเปลี่ยนใจเมื่อได้ข้อมูลใหม่

6.  การสร้างเข้มแข็งทางจิตใจ        

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวจิตใจที่เข้มแข็งจะช่วยให้เอาชนะความเครียดได้   การสร้างเข้มแข็งทางจิตใจโดยสร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง พัฒนา ปรับปรุงตัวเองเข้าใจชีวิตว่า ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ยึดติดกับอดีต หรือกังวลกับอนาคตมากเกินไป  อย่างลืมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นกำลังใจที่สำคัญในการต่อสู้กับอุปสรรค

7.  การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน     

การที่ผู้ร่วมงานมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ร่วมมือกันในการทำงาน จะทำให้เกิดความอบอุ่นมีกำลังใจ และสนุกสนานกับงานมากกว่าการทำงานโดยลำพัง    การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน สามารถทำได้โดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา อยู่เสมอ

8.  การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม   

การเก็บอารมณ์ที่ไม่ดีเอาไว้และการแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดความเครียด ควรฝึกควบคุมอารมณ์คิดก่อนทำ ทำอย่างเหมาะสม จะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง เมื่ออารมณ์ดี ควรแสดงออกด้วยการยิ้ม พูดเล่น ฮัมเพลง เพื่อให้คนใกล้ชิดรู้สึกดีด้วย  อย่างพูดหรือทำอะไรลงไป หลบจากสถานการณ์และหายใจลึกๆ ไตร่ตรองผลที่จะตามมา จะทำให้มีสติ เครียดน้อยลง

9.  การออกกำลังกาย     

เมื่อรู้สึกเครียดจากการทำงาน การออกกำลังกายจนเหนื่อยและเหงื่อออกจะช่วยคลายเครียดได้ หลังเลิกงานหรือในวันหยุดควรออกกำลังกายหรือเหล่นกีฬากับกลุ่มเพื่อนจะรู้สึกสนุกสนานและเพลิดเพลินยิ่งขึ้นการช่วยกันทำงานบ้านในวันหยุด ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ดีและช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว

10. การพูดอย่างสร้างสรรค์  

จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน  สวัสดี  ขอโทษ  ขอบคุณ เป็นประโยคที่ควรพูดติดปาก แสดงถึงการมีมรรยาทและเป็นเสน่ห์แก่ผู้พูดหมั่นพูดชมเชย ไต่ถามทุกข์สุข ให้กำลังใจ ประสานความเข้าใจ เพื่อลดความขัดแย้งในการทำงาน จะช่วยตัดปัญหา ลดความเครียด