การจัดสวัสดิการให้กับครอบครัวพนักงาน เป็นสิ่งที่ทุกองค์การให้ความสำคัญ มากขึ้น ถ้าองค์การใดที่มีมาตรฐานในระดับหนึ่ง การให้สวัสดิการแก่พนักงานก็จะครบเกือบทุกอย่างแล้ว  ก็จะมาเริ่มให้ความสำคัญแก่ครอบครัวสายตรงของพนักงาน เพราะองค์การถือว่าญาติสายตรงจะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพนักงานมากที่สุด  แต่ในทางกลับกัน ผู้เขียนเสนอว่า น่าจะมีการสำรวจการมีครอบครัวของพนักงานด้วยจะดีกว่า  ถ้าองค์การใดที่มีพนักงานเข้าใหม่และมีอายุยังน้อย ส่วนใหญ่ก็จะยังไม่มีครอบครัว ถ้าจัดสวัสดิการให้กับบุตรพนักงานก็จะมีปัญหาว่า พนักงานส่วนใหญ่จะไม่ได้รับประโยชน์เพราะว่าพนักงาน ยังไม่มีครอบครัวจัดสวัสดิการให้ก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี ซึ่งการจัดสวัสดิการจึงมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางกระตุ้นเตือนเรื่องการจัดสวัสดิการได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามที่ได้กล่าวไว้ในบทที่ผ่านมาไว้แล้วนั้น

การจัดให้มีสวัสดิการให้แก่ครอบครัวพนักงานถือเป็น กลยุทธ์อย่างหนึ่งขององค์การที่จะสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดี และพนักงานยังมองว่าบริษัทให้การดูแลถึงเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงานอีกด้วย  แต่เมื่อองค์การจัดให้แล้วไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาตามมา ฝ่ายบุคลากรต้องคอยติดตามการใช้สวัสดิการของพนักงานให้อยู่ในหลักเกณฑ์กติกาขององค์การ มิฉะนั้นแล้วการจัดสวัสดิการที่ดีๆ อาจจะไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจที่ดีก็ได้  ผู้เขียนจึงอยากจะขอยกกรณีศึกษา ที่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับองค์การแห่งหนึ่ง ที่พนักงานทำงานอยู่ด้วยกัน เกิดมีความสนิทสนมถึงขั้นแต่งงานอยู่กินด้วยกัน โดยจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  และพนักงานบางคู่ก็มีการอยู่กินกันอย่างเปิดเผย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส พอมาถึงรุ่นลูกสวัสดิการจะมีการให้อย่างไร เพื่อให้ถูกตามหลักเกณฑ์  จึงเป็นมูลเหตุที่ผู้เขียนขอยกกรณีศึกษา ดังต่อไปนี้

เหตุการณ์

  • มีสามีและภรรยาครอบครัว ก. เป็นพนักงาน บริษัทแห่งหนึ่ง อยู่กินโดยจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกันจำนวน 2 คน
  • พนักงานอีกครอบครัวหนึ่งคือครอบครัว ข. อยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกันจำนวน 1  คน
  • ตามสวัสดิการของบริษัท พนักงานสามารถให้บุตรใช้สิทธิ์ของบิดาหรือมารดาที่เป็นพนักงาน ในอัตราครึ่งหนึ่งของงบประมาณค่ารักษาพยาบาลต่อปีของบริษัท
  • มีประเด็นที่น่าสงสัยว่าครอบครัว ก. บุตรทั้งสองคนจะใช้สิทธิ์ใครก่อน เมื่อใช้งบประมาณของบิดาหมดแล้ว จะใช้สิทธิ์ของมารดาได้หรือไม่
  • ประเด็นครอบครัว ข. บุตรของพนักงานไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะใช้สิทธิ์ บิดาและมารดาได้หรือไม่
  • ให้ช่วยอธิบายเหตุผลการให้สวัสดิการในลักษณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับพนักงานโดยส่วนรวมในรายต่อไป

ตามที่โจทย์ให้มาจะเห็นได้ว่ามี  2  ครอบครัว ที่เป็นพนักงานของบริษัททั้งสองครอบครัว แต่ครอบครัว ก.  พนักงานทั้งสองคนได้อยู่กินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2  คน  แต่ส่วนครอบครัว ข. ก็เป็นพนักงานเหมือนกัน แต่ผิดกับครอบครัว ก. ตรงที่ พนักงานอยู่กินกันอย่างเปิดเผย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 1  คน

เมื่อบุตรทั้งสองครอบครัวเกิดมาแล้ว  ย่อมต้องมีการเจ็บไข้ ได้ป่วยอย่างแน่นอน  เราลองมาตีความตามกฎเกณฑ์ของบริษัท  ว่าครอบครัว ก.ทั้งสามีและภรรยาเป็นพนักงานทั้งสองคน ได้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการของครอบครัวพนักงานโดยใช้สิทธิ์ของมารดาได้จำนวนครึ่งหนึ่งของสวัสดิการพนักงาน สมมุติว่าสิทธิในการรักษาพยาบาลของพนักงานมีงบประมาณ 100,000บาท/ปี บุตรก็จะมีสิทธิ์ใช้งบประมาณของมารดาได้  50,000  บาท  สำหรับบุตรคนที่ 1

เมื่อบุตรคนที่ 1 ใช้สวัสดิการไปครึ่งหนึ่งแล้วยังไม่หายจากอาการของโรค สามารถใช้ของมารดาต่อได้หรือไม่  คำตอบคือไม่ได้ เพราะตามกติการบุตรมีสิทธิ์ใช้ได้ครึ่งหนึ่งเท่านั้นเกินกว่านี้ไม่ได้  แต่บุตรคนที่ 1 ยังสามารถใช้สิทธิ์ของบิดาที่ถูกต้องตามกฎหมายได้อีกครึ่งหนึ่งเป็นจำนวนเงิน ไม่เกิน 50,000 บาท เช่นกัน แสดงว่าบุตรคนที่ 1 สามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการได้ทั้งบิดาและมารดา เป็นจำนวนเงิน 100,000  บาท

อย่างไรก็ตามตามโจทย์ครอบครัว ก. มีบุตรจำนวน  2  คน  ถ้าบุตรคนที่ 2 ได้เจ็บป่วยบ้าง จะยังสามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการของพนักงานที่เป็นบิดาและมารดาได้หรือไม่ ตามกติกาบุตรมีสิทธิ์ใช้ได้ครึ่งหนึ่งของพนักงาน แต่ถ้าบุตรคนที่ 1 ได้ใช้สิทธิ์สวัสดิการไปหมดแล้ว บุตรคนที่ 2 จะไม่สามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการของบิดาได้อีกตามกติกาของบริษัท  จะเห็นได้ว่าสวัสดิการเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ผู้บริหารโดยเฉพาะฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องวางระบบการบันทึกค่าใช้จ่าย สำหรับกรณีดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนด้วย

สำหรับครอบครัว ข. ตามโจทย์ พนักงานอยู่กินด้วยกันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ถ้าเราตีความตามกฎหมายแล้ว บุตรที่เกิดมาจากพนักงานของครอบครัว ข. จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของฝ่ายสามี  แต่สำหรับพนักงานที่เป็นฝ่ายหญิงถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ฉะนั้นบุตรที่เกิดจากพนักงานหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสจึงสามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการของมารดาได้ตามหลักเกณฑ์ แต่จะไม่สามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการของบิดาที่เป็นพนักงานได้  ถามต่อไปว่าจะให้ใช้สิทธิ์ของพนักงานชายที่เป็นบิดา พนักงานชายจะต้องทำอย่างไร  ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องแนะนำตามหลักของกฎหมายครอบครัวไปว่า  ให้พนักงานชายของครอบครัว ข. ไปจดทะเบียนรับรองบุตร หรือไม่ก็ให้สามีและภรรยาที่เป็นพนักงาน ของครอบครัว ข. ไปจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะมีสิทธิ์ในการใช้สวัสดิการพนักงานได้   ตีความตามโจทย์ครอบครัว ข. บุตรที่เกิดมาจะมีสิทธิ์ใช้เฉพาะผู้ที่เป็นมารดาเท่านั้น

จากสภาพความเป็นจริงแล้ว  บริษัทน่าจะให้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ให้เบิกค่าคลอดบุตรแบบเหมาจ่าย ที่สามีและภรรยาที่อยู่กินกันอย่างเปิดเผย แต่ในทางปฏิบัติ  ถ้าองค์การไม่มีแนวปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน  จะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะพนักงานที่เป็นฝ่ายชายสามารถที่จะไปมีภรรยาได้หลายคน และมีบุตรได้เป็นจำนวนมาก ถ้าองค์การไม่มีมาตรการควบคุม หรืออ้างอิงหลักเกณฑ์ของกฎหมายก็จะทำให้ประสบปัญหาด้านการตรวจสอบข้อมูลอย่างแน่นอน   ทำให้เสียเวลา ในการตรวจสอบ เสียเวลาในการบริหารสวัสดิการไปโดยเปล่าประโยชน์อีกเช่นกัน   ฝ่ายทรัพยากรบุคคล จึงต้องมีมาตรการในการควบคุมเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน  โดยส่วนใหญ่จะต้องเขียนแนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นคู่มือ เพื่อเป็นการให้หน่วยงานตรวจสอบอีกส่วนงานหนึ่ง สามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลได้

การให้สวัสดิการของบุตรพนักงานก็ยังไม่จบแค่นี้  ก็อาจจะมีประเด็นสอบถามเพิ่มเติมมาอีกว่า  กรณีที่พนักงานอีกครอบครัวหนึ่งมีบุตร   5   คนจะสามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการของบริษัทได้หรือไม่  จากที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้  ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ตั้งแต่เริ่มแรกว่า สวัสดิการที่จะให้ครอบครัวนั้นจะครอบคลุมได้ไม่เกินกี่คน  ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่เขียนไว้ในระเบียบปฏิบัติการเบิกค่ารักษาพยาบาลไว้เลยว่า สวัสดิการจะให้บุตรพนักงานมีสิทธิ์เบิกได้ไม่เกินจำนวน  2  คนเท่านั้น  โดยให้พนักงานเขียนชื่อบุตรไว้ในประวัติของพนักงานที่มีสิทธิ์ใช้สวัสดิการไว้ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาจ้างทำงานในวันแรกที่เข้าทำงาน เพื่อสะดวกให้หน่วยงานที่จะปฏิบัติงานได้ทำงานได้อย่างถูกต้อง

          ประเด็นการเบิกค่ารักษาพยาบาลของบุตรจะไปเบิกในส่วนของใครดี ถ้ามองดูผิวเผินก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในทางปฏิบัติย่อมมีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เพราะในโลกปัจจุบัน พนักงานชายหญิงในโรงงานใช้ชีวิตร่วมกันก่อนแต่งค่อนข้างมากหรือไม่พนักงานชายอาจจะมีภรรยาลับๆอีก จึงมักจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ หน่วยงานที่ทำเรื่องการเบิกค่ารักษาพยาบาลย่อมมีประเด็นปัญหาที่ตามมาเป็นจำนวนมากไปด้วย  เพราะฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะให้เบิกได้ก็ต้องมีหลักฐานที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ควรจะกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษาพยาบาลไว้อย่างชัดเจน และควรจะยกตัวอย่างไว้ด้วยว่า กรณีไหนบ้างที่ไม่สามารถเบิกได้ บุตรที่เข้าข่ายในการเบิกต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง รวมกระทั่งเขียนเป็นแนวปฏิบัติไว้ด้วยว่า กรณีที่บิดา มารดา เป็นพนักงานทั้งสองคน ให้ใช้ของใครเป็นอันดับแรก และถ้ายังไม่หายให้มาใช้ของใครเป็นอันดับต่อไป (ซึ่งโดยส่วนใหญ่สำหรับเรื่องนี้บริษัททั่วไปมักจะให้บุตรไปใช้ของมารดาเป็นอันดับแรกก่อน) ถ้าเป็นบุตรที่บิดาและมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะทำอย่างไร  (บางบริษัท ก็เขียนแนวปฏิบัติชี้ชัดไปเลยว่าให้ใช้ได้กับมารดาเท่านั้น เป็นต้น ยกเว้นว่าทางฝ่ายบิดาได้ไปจดทะเบียนรับรองบุตรมาแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าข่ายในการเบิกค่ารักษาพยาบาลของฝ่ายบิดาได้)

 

ดร. กฤติน กุลเพ็ง

 

“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”