โลกปัจจุบันทางเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก  จึงทำให้กฎหมายและแนวปฏิบัติสมัยก่อนๆ ตามยุคสมัยกันแทบไม่ทัน เมื่อสมัยก่อนไม่มีหรอกครับ คลินิคทางการแพทย์ที่มาคอยให้คำปรึกษาด้าน ภาวะการมีบุตรยาก  มีแต่ว่าจะให้ความรู้และควบคุมไม่ให้มีบุตรมากได้อย่างไร ซึ่งนโยบายรัฐบาลสมัยนั้นเคยออกนโยบายจำกัดการมีบุตรเสียด้วยซ้ำ  อาจจะเป็นเพราะสมัยก่อนไม่ค่อยมีมลภาวะสารพิษ และความเครียดเหมือนสมัยปัจจุบัน  จึงทำไม่มีปัญหาเรื่องการมีบุตร

ตามโรงพยาบาลเอกชนดังๆ ได้เปิดคลีนิครับปรึกษา ภาวะการมีบุตรยาก ให้แก่ครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องการมีบุตร จนได้รับความสนใจจากลูกค้าที่มีประสบปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าที่มารับการปรึกษาที่คลีนิคดังกล่าว ก็เป็นผู้ที่มีฐานะพอที่จะจ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาล แต่ละท้องก็มีค่าใช้จ่ายใกล้ 7 หลักเลยทีเดียว  จึงทำให้โรงพยาบาลเอกชนได้หาบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มาเพื่อบริการให้กับลูกค้า ให้เกิดความประทับใจ แต่ลูกค้าก็มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งลูกค้าให้โรงพยาบาลหาคนรับจ้างเพื่อท้องแทนก็มี โดยจ่ายค่าอุ้มบุญเป็นจำนวนเงินก้อน โดยแบ่งจ่ายออกเป็นสองก้อน ก้อนแรกจ่ายเมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ และส่วนก้อนที่สองจะจ่ายเมื่อคลอดบุตรเรียบร้อยแล้ว   เมื่อแนวความคิดของลูกค้าเปลี่ยนไป ทางโรงพยาบาลก็ต้องปรับกลยุทธ์ในการให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วด้วย  จึงมีพนักงานในโรงพยาบาลเอกชน เริ่มมองเห็นรายได้ที่ตัวเองจะได้มาเป็นเงินก้อน ประกอบกับบางส่วนยังสามารถนำไปเบิกกับภาครัฐได้อีกด้วย  จึงเกิดแนวคิดการอุ้มบุญแทนลูกค้า  ซึ่งผู้เขียนในฐานะที่ได้มีกรณีศึกษาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ได้นำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ ให้ระดับผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้ต่อยอดแนวความคิดในเรื่องนี้  เพื่อเป็นบรรทัดฐานการตัดสินใจจากกรณีศึกษาดัวกล่าวได้ ดังต่อไปนี้

เหตุการณ์

“โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เปิดคลินิค รับปรึกษาด้านภาวะการมีบุตรยาก มีลูกค้า 2 สามีภรรยาคู่หนึ่งได้เข้ามารับการปรึกษา แต่ภรรยาไม่อยากท้องเองจึงได้เจรจากับพนักงานที่เป็นพยาบาลในทางลับ โดยให้สินจ้างพยาบาลในโรงพยาบาลดังกล่าว เพื่อรับจ้างในการท้องแทนลูกค้า พยาบาลยังไม่มีสามี เห็นว่าเป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควรจึงตกลงรับจ้าง  3 เดือนผ่านไป ท้องเริ่มใหญ่ขึ้น จนเพื่อนๆ ได้วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาว่าไม่มีสามีท้องได้อย่างไรเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ทราบถึง ผู้บริหาร จึงได้ให้ทางหัวหน้างานตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท”
จึงอยากถามว่า ในฐานะผู้บริหาร

–  พนักงานมีสิทธิในสวัสดิการของพนักงานได้หรือไม่ เช่น ลาคลอด ฝากครรภ์

–  การรับจ้างถือเป็นความผิดหรือไม่

–  ถ้าพนักงานอ้างว่าเป็นการบริการลูกค้า เพื่อให้เกิดความพึงพอใจ

จะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่

–  นำบิลไปเบิกการลาคลอดจากประกันสังคมได้หรือไม่

–  ถ้าข้อเท็จจริงเป็นตามที่กล่าวหาจริง จะลงโทษพนักงานอย่างไร

จากเหตุการณ์ตามโจทย์พนักงานในคลีนิคที่รับคำปรึกษาภาวะการมีบุตรยาก  ไปตกลงกับลูกค้าในการที่จะรับการตั้งครรภ์แทนลูกค้าที่ไม่พึงประสงค์ที่จะตั้งครรภ์เอง  เมื่อเวลาผ่านไปท้องพนักงานเริ่มใหญ่ขึ้น จนเห็นได้ชัดว่า พนักงานที่อยู่ในสังกัดเดียวกันเริ่มมีความสงสัยว่า สามีก็ไม่มี จะมาตั้งครรภ์ได้อย่างไร  ประกอบกับมีลูกค้า  สามี ภรรยาคู่หนึ่งจะมาเยี่ยมและซื้อของมาฝากให้รับประทานแทบทุกอาทิตย์จนเป็นสิ่งที่ผิดสังเกต  ทำให้เกิดครหาว่า พนักงานสามารถทำได้หรือไม่

เรามาเริ่มที่ประเด็นเรื่อง การใช้สิทธ์สวัสดิการ   การลาคลอด ตามข้อบังคับของบริษัทพนักงานมีสิทธิ์ลาคลอดได้ 90 วันโดยได้รับค่าจ้าง 45 วัน

ตามข้อเท็จจริง ถ้ามีการสอบสวนแล้วปรากฎว่า พนักงานได้รับจ้างจากลูกค้าจริง  พนักงานจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ในการลาคลอดตามข้อบังคับของบริษัทได้ เพราะเป็นการลาคลอดที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตั้งแต่เริ่มแรก และพนักงานจะใช้สิทธิ์ลาอะไร ถึงกำหนดคลอดพนักงานต้องหยุดงานโดยปริยายอยู่แล้ว  ก็อาจจะใช้เป็นการ ลากิจ  ลาพักร้อน

การรักษาพยาบาลสำหรับการคลอดบุตร ก็จะไม่เข้าข่ายอีกเช่นกัน ตามหลักเกณฑ์ เรื่อง การลาคลอด ยกเว้นว่า แพทย์ได้วินิจฉัยว่า การเจ็บป่วยดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ในความเห็นของผู้เขียนสามารถ เบิกค่ารักษาพยาบาลในกรณีของการเจ็บป่วยนี้ได้  สำหรับการเจ็บป่วยในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่อาจจะวินิจฉัยค่อนข้างลำบากว่าเป็นการเจ็บป่วยเนื่องจากการแพ้ท้อง หรือ การเจ็บป่วยจากสภาพอากาศ  ควรจะยึดถือตามคำวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ จะเป็นทางออกที่ดีกว่า

ประเด็นการรับจ้างท้องแทน จะถือเป็นความผิดได้หรือไม่  ตามข้อบังคับของบริษัท จะมีข้อกำหนดไว้  ที่มีใจความว่า  “พนักงานต้องไม่รับปฏิบัติงานใดๆ ให้กับส่วนบุคคล คณะบุคคล ห้างร้านหรือบริษัท อื่นใดเป็นอันขัดผลประโยชน์ของบริษัท หรือใช้เวลาการปฏิบัติงานของบริษัทเพื่อทำการใดๆ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท”

จากข้อความ จะเห็นได้ว่า พนักงานจะเข้าข่ายความผิด เรื่องของการใช้เวลาการปฏิบัติงานของบริษัท ไปทำการรับจ้างตั้งครรภ์แทนตามข้อเท็จจริง

ประเด็นเหตุผลข้ออ้างที่ว่า  เพื่อเป็นการบริการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจต่อองค์การ ถ้าจะให้ฟังขึ้น พนักงานท่านนี้ควรจะมาปรึกษาหัวหน้าตามสายบังคับบัญชาเสียก่อนเพื่อขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร  ก่อนที่จะตัดสินใจกระทำการใดๆ ไป  น่าจะเป็นเหตุผลที่พอจะฟังขึ้นมากกว่า เหตุผลลักษณะนี้จะเข้าข่ายของการแก้ตัวมากกว่า

การนำบิลไปเบิก การคลอดบุตรจากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นการเหมาจ่ายครั้งเดียวจำนวนเงิน 12,000 บาท  ผู้เขียนได้สอบถามความเห็นจากหัวหน้าสำนักงานประกันสังคม ได้ให้ความเห็นว่า ทางหน่วยงานประกันสังคมจะไม่ได้ตรวจสอบอะไรมากนัก โดยเฉพาะกรณีฝ่ายหญิงเป็นผู้มาขอเบิกเงิน เพราะด้วยหลักแล้ว บุตรอยู่ในครรภ์ของผู้ใด ถือเป็นบุตรของบุคคลนั้น เมื่อนำหลักฐานการคลอดและใบเกิดของเด็กมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ก็จะดำเนินการจ่ายให้ได้เลย

การลงโทษพนักงาน จะความผิดในฐานใด   ซึ่งในกรณีนี้  พนักงานได้ยอมรับว่าได้ดำเนินการรับจ้างตั้งครรภ์ตามการสอบสวนจริง  พนักงานจะเข้าข่ายความผิดในด้านใช้เวลาการปฏิบัติงานของบริษัทเพื่อทำการรับจ้างในการตั้งครรภ์ เพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท

 

 

ดร. กฤติน กุลเพ็ง

“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”