ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ ระบบการศึกษามีส่วนสำคัญในการที่องค์การจะพิจารณาตัดสินใจคัดเลือกพนักงานในเบื้องต้น เข้าสู่องค์การ ไม่ว่าจะเป็น วุฒิการศึกษา  สถาบันการศึกษา  เกรดเฉลี่ยที่จบ  แขนงวิชาที่เรียน ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่องค์การโดยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการคัดเลือกคนเข้าสู่องค์การด้วยทั้งสิ้น  เมื่อสมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่ค่อยเจริญ การคัดลอกเอกสารต่างๆค่อนข้างเป็นไปได้ยากมาก และประกอบกับยุคนั้น คนงานก็ยังไม่สนใจขวนขวายในการเรียนรู้เพิ่มเติมมากสักเท่าไรนัก พนักงานที่ทำงานในโรงงานส่วนใหญ่ มักจะเป็นพนักงานในระดับคนงานเท่านั้น พอมาในยุคปัจจุบันจะนิยมส่งลูกหลานให้เข้ารับการศึกษา ในระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ เพื่อหวังว่าจะได้ก้าวหน้าเป็นใหญ่ เป็นโตในอนาคต มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงๆ มีเงินเดือนมากๆ  นั่งอยู่ในห้องแอร์ ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเมื่อก่อน  ซึ่งทำให้ปัจจุบันขาดแคลนแรงงานในด้าน แรงงานระดับล่างเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการจึงต้องหันไปว่าจ้างแรงงานต่างด้าวมาเป็นแรงงานในโรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ

ในส่วนของนายจ้างจึงได้พัฒนาระบบการรับคนเข้าสู่องค์การ โดยเพิ่มความเข้มข้นในการคัดเลือกคน เช่น การกำหนดสถาบันการศึกษาที่จะรับ  การกำหนดเกรดเฉลี่ยต้องมากว่า 3.00 ขึ้นไป จึงทำให้คนที่จบระดับ ปวส. และปริญญาตรี   ที่มีมากขึ้นมีข้อจำกัด และบางคนก็หมดโอกาสที่จะถูกคัดเลือกเข้าสู่องค์การที่ได้มาตรฐาน ที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีคุณธรรม    จึงมีส่วนทำให้คนที่ถูกตัดโอกาสในการเข้าไปในบริษัทใหญ่ๆ ที่มีความมั่นคง ใช้วิธีการใหม่ในการเข้าไปในองค์การแห่งนั้น โดยไปจ้างเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานในสถาบันการศึกษา  ที่พอมีอำนาจในการออกเอกสารสำคัญทางการศึกษาให้ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับการออกเอกสารบ้าง แต่สามารถนำมาใช้สมัครงานกับบริษัทเอกชนต่างๆ ได้  ประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความเจริญค่อนข้างมาก สามารถที่จะคัดลอกสำเนาได้เหมือนกับตัวจริง ไม่สามารถแยกแยะได้เมื่อมองด้วยตาเปล่า  ซึ่งจะต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ในสถาบันการศึกษาเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลเป็นรายบุคคล จึงจะสามารถทราบได้

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลสมัยใหม่จึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ กับพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต้องรีบหาวิธีการหรือแนวทางป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อองค์การและกระทบต่องานระบบของฝ่ายทรัพยากรบุคคล  อย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนใคร่ขอยกตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในโรงงานแห่งหนึ่ง ที่ไม่ได้เตรียมการ หาแนวทางป้องกันไว้ จนเกิดเป็นกรณีศึกษา ดังต่อไปนี้

  • พนักงานโรงงานแห่งหนึ่ง ได้เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 เมษายน 2540 ในตำแหน่ง เลขานุการ ผลการปฏิบัติงานเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก
  • อยู่มาวันหนึ่ง มีพนักงานเขียนบัตรสนเท่ห์มายังฝ่ายบุคคล กล่าวหาว่าพนักงานตำแหน่งเลขาดังกล่าว ได้ปลอมแปลงวุฒิการศึกษา ในการเข้ามาเป็นพนักงาน ว่าไม่ได้เกรดเฉลี่ยตามที่ได้แจ้งไว้กับฝ่ายบุคคล โดยลงชื่อว่า  จากเพื่อนที่จบสถาบันเดียวกัน และรุ่นเดียวกัน
  • หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงาน มีกำหนดไว้ว่า พนักงานที่จบ วุฒิ ปวส.จะต้องมีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.70 ขึ้นไป
  • ถ้าท่านในฐานะฝ่ายบุคคล เมื่อถูกร้องเรียนในลักษณะดังกล่าว ท่านจะมีการดำเนินการอย่างไร เมื่อดำเนินการแล้วผลปรากฏว่ากระทำความผิดจริงจะมีวิธีการอย่างไรกับพนักงาน ช่วยอธิบายในรายละเอียด
  • ในฐานะฝ่ายบุคคล จะมีความผิดด้วยหรือไม่ และช่วยบอกแนวทางในการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำ

เมื่อฝ่ายบุคคลรับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะต้องรีบตรวจสอบความถูกต้องก่อนเป็นอันดับแรก ในความเป็นจริงเมื่อไปตรวจสอบที่แฟ้มประวัติของพนักงานที่ถูกร้องเรียนแล้ว ก็จะพบว่า พนักงานได้เซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง กำกับไว้ เหมือนกับพนักงานคนอื่น โดยไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่า มีการปลอมแปลงเอกสารจากส่วนไหน
ในทางลับฝ่ายบุคคลก็ได้เรียกพนักงานที่ถูกร้องเรียนขึ้นมาที่สำนักงานและได้แจ้งความประสงค์ไปว่า ให้พนักงานนำเอกสารวุฒิการศึกษาตัวจริงมายื่นให้กับฝ่ายบุคคลได้ตรวจสอบอีกครั้ง  ซึ่งพนักงานก็ยังถามกลับว่าทำไมต้องมาทำเฉพาะเขาคนเดียว คนอื่นๆไม่เห็นทำให้เหมือนกัน นั่นแหละฝ่ายบุคคลจะต้องมีคำตอบที่ให้กับพนักงานคนนี้ ในขณะนั้นก็ได้ข้อมูลเบื้องต้นไปว่า บริษัทมีแนวทางอยู่แล้วแต่กรณีนี้ต้องทำเป็นการเร่งด่วนก่อน  ก็ยิ่งทำให้เพิ่มความกดดันให้พนักงานเกิดความรู้สึกสับสนอยู่ไม่น้อย  พอวันรุ่งขึ้นพนักงานก็ได้นำเอกสารการศึกษาตัวจริงมายืนยัน กับทางฝ่ายบุคคล  ในเอกสารฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารที่ออกมาจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งอย่างถูกต้อง มีลายเซ็นของผู้มีอำนาจอย่างถูกต้อง มีเลขที่ใบออกเอกสาร และตราประทับจากสถาบันก็ยิ่งทำให้มีความเชื่อมั่นว่า  เอกสารที่มีอยู่เป็นของจริงอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่จะยืนยันความจริงและความถูกต้องไม่ได้อยู่ที่สายตาหรืออำนาจของฝ่ายบุคคล  จะต้องนำเอกสารตัวจริงของพนักงานดำเนินการไปตรวจสอบจากสำนักทะเบียนของสถาบันการศึกษาที่พนักงานได้จบมา เพื่อขอคำยืนยันเป็นเอกสาร  กรณีนี้เป็นกรณีเร่งด่วนจึงต้องให้เจ้าหน้าที่บุคคล ไปยังสำนักทะเบียนการศึกษาด้วยตนเอง  จากการที่ได้ไปพบกับเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนในเบื้องต้น ปรากฏว่า เลขที่ออกเอกสารกับเอกสารที่พนักงานนำมายืนยันไม่ตรงกัน  เจ้าหน้าที่ของสถาบันขอตรวจสอบเอกสารตัวจริงก่อนต้องใช้เวลาไปค้นเอกสาร ณ ห้องเก็บเอกสาร และจะแจ้งให้กับทางบริษัททราบเป็นหนังสือในขั้นตอนต่อไป

สถาบันการศึกษาใช้เวลาตรวจสอบเอกสารประมาณ 3 วัน จึงได้ทำหนังสือชี้แจงมายังบริษัทว่า เป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง และได้ส่งเอกสารการศึกษาฉบับจริงมาให้กับบริษัท เมื่อความจริงปรากฏขึ้นมาในลักษณะเช่นนี้จะต้องทำอย่างไร จะชี้แจงพนักงานและหัวหน้าในสายงานอย่างไร เพราะเวลามันล่วงเลยมาประมาณ 10 ปี แล้ว และพนักงานก็มีผลการประเมินที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอด   ฝ่ายบุคคลจะต้องถูกถามกลับอย่างแน่นอนว่า ถ้าให้พนักงานคนนี้ออกจากองค์การ ฝ่ายบุคคลในฐานะเป็นผู้รับและตรวจสอบเอกสารข้อมูลจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบในกรณีนี้หรือไม่   เมื่อ 10 ปีที่แล้วคนที่ทำหน้าที่อยู่ตำแหน่ง ฝ่ายบุคคลจะเป็นคนละคนก็ตามก็ยังมีคำถามที่ยังคาใจอยู่ดีว่า  ไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีนี้ก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพออีกเช่นกัน

ในฐานะฝ่ายบุคคลคงจะต้องมีเหลักเกณฑ์และทางออกเป็นรูปธรรม โดยจะต้องตอบคำถามพนักงาน  หัวหน้างาน  และผู้บริหารได้อย่างมั่นใจว่า กรณีในลักษณะอย่างนี้มีทางออกอย่างไร และมีวิธีการจัดการกับพนักงานที่กระทำผิดกรณีนี้อย่างไร โดยที่ไม่มีปัญหาตามมาภายหลังได้   ก่อนอื่นสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกับพนักงานโดยส่วนใหญ่ก่อนว่า พนักงานคนนี้มีความผิดหรือไม่ก่อนเป็นอันดับแรก  เมื่อพนักงานปลอมแปลงเอกสารวุฒิการศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่ง เงินเดือน สวัสดิการ หรือตำแหน่งของทางบริษัทก่อนว่าถูกต้องหรือไม่ ใช้คำถามนี้ถามกลับพนักงานไปก่อน  และ พนักงานที่เข้ามาสู่องค์การโดยมีพฤติการณ์ เรื่อง การปลอมแปลงวุฒิในลักษณะนี้ตั้งแต่แรก สมควรที่เราจะรับไว้เป็นพนักงานบริษัทและให้อภัยหรือไม่  ซึ่งจากที่ผู้เขียนเคยสอบถามพนักงานโดยส่วนใหญ่แล้วได้คำตอบที่ว่า ไม่ควรรับเป็นพนักงานและไม่ควรให้อภัยเป็นอย่างยิ่ง และบางคนยังบอกว่าจะต้องให้บริษัทฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นใน 10 ปีที่ผ่านมาด้วย

สำหรับกรณีทางกฎหมาย  ในใบสมัครงานก่อนที่จะเข้ารับการสัมภาษณ์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า  กรณีที่บริษัทพบเอกสาร และสิ่งที่ผู้สมัครให้ไว้กับทางบริษัทไม่ถูกต้อง ผู้สมัครยินดีรับผิดชอบในการกระทำในครั้งนี้ ในทุกกรณี   ซึ่งสามารถดำเนินการให้พนักงานพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด  และยังแจ้งความกับพนักงานที่กระทำผิดอีกเสียด้วยซ้ำว่า เป็นการปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ เป็นคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้   เมื่อทราบขั้นตอนในลักษณะนี้แล้ว   ฝ่ายบุคคลต้องรีบดำเนินการเรียกพนักงานมาพบและแจ้งความผิดไปยังพนักงานดังกล่าว  จากกรณีนี้โดยส่วนใหญ่ พนักงานที่กระทำผิดรู้ตัวเองดีอยู่แล้วว่า ได้ทำความผิดอะไรลงไป  มักจะไม่อยู่ให้ฝ่ายบุคคลแจ้งความผิดเสียด้วยซ้ำ  มักจะออกจากองค์การไปก่อนโดยที่ไม่ได้แจ้งกับทางบริษัทเสียด้วยซ้ำ

ฝ่ายบุคคลคงไม่หยุดการดำเนินการแต่เพียงเท่านี้  ต้องหาแนวทางและมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีกในอนาคต อีกต่อไป เช่น กระบวนการสรรหาและคัดเลือกคน ก่อนที่จะบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นพนักงานประจำ  จะต้องมีหลักฐานการตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่ พนักงานได้จบมาเป็นเอกสารแนบในการบรรจุด้วยทุกครั้ง ถือเป็นมาตรการหนึ่ง ที่ทุกองค์การควรยึดถือและนำไปปฏิบัติ  เพื่อไม่ให้มีปัญหาดังกรณีศึกษาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  ถ้าเป็นสถาบันเอกชนที่เป็น ธุรกิจโรงพยาบาล จะต้องทำการตรวจสอบทั้งวุฒิการศึกษาและสภาการแพทย์ สภาการพยาบาลรับรอง ต้องมีการสอบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้  เพราะวิชาชีพเหล่านี้จะต้องพัฒนาทักษะและเพิ่มเติมความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษา ในสภาวะปัจจุบัน ที่เป็นผลต่อชีวิตและร่างกายมนุษย์ จึงต้องมีความเข้มงวดมากกว่าระบบบริษัทที่เป็นธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม

วันเวลาเปลี่ยนไป แนวคิดและพฤติกรรมของคนย่อมเปลี่ยนไปแปลงไปตาม สภาพแวดล้อม เมื่อย้อนกลับไป 20 กว่าปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของพนักงานเรื่อง การปลอมแปลงเอกสารมักไม่ค่อยมี อาจจะเป็นเพราะว่าเทคโนโลยียังไม่ค่อยพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าก็ยังไม่มี   จึงไม่สามารถที่จะปลอมแปลงเอกาสารให้เหมือนตัวจริงได้ ประกอบกับแนวคิดของคนสมัยก่อน เป็นพนักงานที่รักองค์การ  ไม่กล้ากระทำความผิด จึงไม่ค่อยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น ซึ่งผิดกับยุคปัจจุบัน พนักงานมีความมั่นใจสูง กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่จะทำให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ค่อยรักองค์การ เปลี่ยนงานบ่อย  ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงต้องปรับ วิธีคิด วิธีทำงาน จัดระบบระเบียบงาน ให้มีการทวนสอบเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนระบบงานให้ทันสมัยสอดคล้องกับพฤติกรรมของพนักงานและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

 

ดร. กฤติน กุลเพ็ง

“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”