จากนิตยสาร Time  ที่ทำสกู๊ปหน้าปกเรื่อง Me Me Me Generation มองว่าคนรุ่นใหม่ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1980-2000  มักจะมองตัวเองสำคัญที่สุด มองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างหรือเรียกอีกคำหนึ่งว่า เป็นกลุ่มที่หลงตัวเอง  ลักษณะบุคลิกภาพหลงตัวเอง มักจะมีอาการและพฤติกรรมดังนี้

  1. ปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยความโกรธแค้น สร้างความน่าละอาย ขายหน้าและความอัปยศอดสู ไม่ค่อยยินยอมให้ใครมาวิจารณ์การกระทำของเขานอกจากการชมเท่านั้น
  2. การเอาเปรียบผู้อื่น เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองหรือเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์ของตนเอง
  3. มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญมากเกินพอดี
  4. การพูดขยายความเกินความเป็นจริงเกี่ยวกับความสำเร็จหรือความสามารถของตนเอง
  5. มีใจหมกหมุ่นกับจินตนาการความสำเร็จ พลังอำนาจ ความงาม สติปัญญาหรือความรักในอุดมคติ
  6. ใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล กับสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ หลงใหล และควาดหวังสิ่งนั้น
  7. ต้องการเป็นที่ชื่นชอบ ยอมรับและหลงใหลอยู่ตลอดเวลา
  8. เพิกเฉยไม่เอาใจใส่ต่อความรู้สึกของผู้อื่นและมีความพยามเพียงน้อยนิดที่จะแสดงความเห็นใจผู้อื่น
  9. คิดหมกหมุ่นอยู่กับผลประโยชน์และความต้องการของตนเอง
  10. ไล่ตามเป้าหมายที่เห็นประโยชน์ แก่ตนเอง โดยทุ่มทุนเพื่อให้ได้มาเพื่อสิ่งนี้

ถ้าเรามาดูเรื่อง อายุคนเหล่านี้จะอยู่ในช่วง 21-40 ปี  พฤติกรรมของบุคคลกลุ่มนี้จากทั้งหมด 10 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นจะมีผลและอิทธิพล  ต่อการเข้ามาสู่องค์กรในอนาคตอย่างไรบ้าง  จากการที่เราได้รับรู้พฤติกรรมของบุคคลกลุ่มนี้  จะทำให้เราในฐานะผู้บริหารองค์กร  จะเตรียมรับมือกับบุคคลากรกลุ่มนี้อย่างไรบ้าง  เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า  องค์กรไม่ต้อนรับกับคนที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้   ถ้ามีการสำรวจองค์กรของท่านเอง  อาจจะมีเข้าไปนั่งอยู่ในองค์กรมากกว่า 20 % แล้วก็ได้  สำหรับสังคมไทย ต้องยอมรับว่าการเลี้ยงดูของครอบครัวไทย  มีส่วนเป็นอย่างมาก  ที่ทำให้บุตร หลาน เติบโตมาเป็นลักษณะเช่นนี้

เมื่อเราได้ข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ  เราในฐานะผู้บริหารจะเตรียมรับมือกับบุคคลากรที่กำลังก้าวเข้าสู่องค์กรของเราอย่างไรบ้าง  แน่นอนครับ ผลกระทบกับพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม ย่อมมีขึ้นแน่นอน  แต่ก็ต้องยอมรับว่า  ความสามารถของคนกลุ่มนี้ ถ้าองค์กรมีการพัฒนาให้เขาเดินทางไปตามเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ขององค์กร  ก็จะทำให้องค์กรได้ประโยชน์จากคนกลุ่มนี้ได้มากทีเดียว  แต่สิ่งที่องค์กรต้องแลกเปลี่ยนกลับมาก็คือ การยอมรับกับความก้าวร้าว คำพูดที่ไม่ไพเราะเสนาะหู  การหยุดงานที่ไม่มีเหตุและผล และการวิพากษ์หรือการพูดถึงองค์กรในทางที่ไม่ดี  ผู้องค์กรยอมรับในส่วนนี้ได้หรือไม่

ในฐานะผู้เขียนมองไปถึงระบบงานการสรรหาและคัดเลือกพนักงานเข้าสู่องค์กร  ที่มีอยู่เดิม  ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อที่จะดึงดูดผู้สมัครกลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง  ซึ่งเชื่อได้ว่าผู้สมัครกลุ่มนี้ ย่อมมองหาองค์กรที่เขาต้องการ เหมาะสำหรับตัวเขา  ที่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยไม่ลำบากใจนัก และมีเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งผู้บริหารองค์กร ให้การต้อนรับพวกเขาเป็นอย่างดี  ซึ่งในรายละเอียดระบบงานการสรรหาและคัดเลือก  ที่องค์กรต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์นั้น  จะมีอะไรบ้าง จะกล่าวถึงในบทต่อไป

ที่มาข้อมูล : ดร.กฤติน  กุลเพ็ง   การสรรหาและคัดเลือกพนักงานเข้าสู่องค์กร 20 มกราคม 2564


  บทความ     
  889 views     Comments