ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นหน่วยงานที่จะต้องคัดเลือกคนเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ แล้ว แต่สำหรับหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดของตัวเอง ก็จะต้องพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ในการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในการทำค่าจ้างของพนักงานทั้งหมดขององค์กร ผู้อ่านเมื่อฟังแล้วอาจจะมีข้อสงสัย ว่าทำไมจึงต้องสรรหา คัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ ก็ไม่เห็นจำเป็นเลย ใครมาทำหน้าที่ก็ได้ เพราะว่าก็น่าจะเหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ โดยทั่วไป
สิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้นี้รับรู้ คือ การขึ้นเงินเดือนของพนักงานทั้งหมด ขององค์กร และไม่ได้เห็นเฉพาะพนักงานระดับเดียวกันเท่านั้น เขาเห็นระดับตำแหน่งที่สูงกว่าเขาด้วย ซึ่งบางตำแหน่งจะมีอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าตัวเขาเองมาก จะเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบระหว่างภาระการทำงานกับอัตราเงินเดือนที่ได้รับ จะมีปัญหาในแง่แนวคิดได้เช่นกัน
จากที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการทำงาน ของในภาคอุตสาหกรรมมาก่อน ในช่วงนั้นมีเพื่อนๆ ที่เข้ามาปฏิบัติงานในสายงาน HR พร้อมๆ กันทั้งหมด 3 คน รวมทั้งตัวผู้เขียนเองด้วย จากที่เข้าไปปฏิบัติงานได้ประมาณ 1 ปี หัวหน้าแผนก จะมอบหมายงานให้ทำเป็น หมวดๆไป โดยเริ่มตั้งแต่ งานสรรหาคัดเลือก งานฝึกอบรม งานค่าจ้าง โดยการรับหน้าที่ในช่วงรอบแรกไม่เป็นไร ก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่พอระยะผ่านไปประมาณเกือบ 2 ปี ก็จะมีการสับเปลี่ยนหน้าที่งานกัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ได้มากกว่า 1 หน้าที่งาน จากสิ่งที่ได้เรียนรู้ของการมอบหมายงานให้กับเจ้าหน้าที่ HR ทั้ง 3 คน ปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับหน้าที่ด้านการบริหารค่าจ้าง เป็นเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งที่ ต้องมาทำหน้าที่แทนคนเดิม แต่เมื่อมีการส่งมอบงานซึ่งกันและกัน ปรากฏว่า การส่งมอบงานหยุดชะงักเพราะว่า เพื่อนที่รับหน้าที่ใหม่ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะว่าทำใจไม่ได้ ในการรับรู้การขึ้นเงินเดือนของเพื่อนๆ ที่เข้ามารุ่นเดียวกัน หรือมีการเห็นเงินเดือนของบางตำแหน่ง ที่เป็นระดับ วิศวกร ที่เพิ่งจบใหม่มา มีอัตราเงินเดือนที่แตกต่างจากตัวเองมาก จึงทำให้ ระบบแนวคิดของเขารับไม่ได้ในจุดนี้ จึงบอกกับหัวหน้าแผนกตรงๆ เลยว่า เขาขอไม่ทำหน้าที่ตรงส่วนนี้ได้หรือไม่ เพราะว่าเขายังรับกับการรับรู้เงินเดือนของคนอื่น และตำแหน่งงานอื่นที่เขาเห็นและบางคนเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทำให้เขารับงานในส่วนนี้ไม่ได้ เพื่อนร่วมงานดังกล่าวนั่งนิ่งเฉยทั้งวัน ไม่ยอมปฏิบัติงานอะไรทั้งสิ้น เพราะว่ายังทำใจรับข้อมูลเงินเดือนที่เขาเห็นไม่ได้
จากประสบการณ์ในมอบหมายงานในครั้งนั้น เป็นบทเรียนของผู้เขียนเหมือนกันว่า ถ้าถึงคราวที่เราต้องไปรับตำแหน่งงาน ที่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ เราจะเป็นลักษณะนี้หรือไม่ เคยคิดอยู่ในใจตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ก็ต้องมารับผิดชอบงานด้านการบริหารค่าจ้างตามที่เราได้ฝันไว้ เมื่อตอนไปปฏิบัติแรกๆ ก็เกิดความรู้สึกเหมือนกัน ที่มาดูอัตราค่าจ้างของตัวเองเทียบกับเพื่อนร่วมกันคนอื่นๆ ที่เข้ามาพร้อมกัน มีข้อสงสัยว่าทำไมอัตราการขึ้นค่าจ้างถึงห่างกันมาก แต่ในช่วงวัยขณะนั้น ผู้เขียนไม่ค่อยได้คิดมากสักเท่าไร เพราะว่าคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้งานที่ปฏิบัติอยู่เสร็จภายในกำหนดเวลาให้ได้ เพราะว่าตำแหน่งนี้ ต้องรักษาความลับ ความถูกต้อง รวดเร็ว และสิ่งที่ได้รับจากการทำตำแหน่งนี้ก็คือ เราเป็นบุคคลสำคัญที่พนักงานให้ความเคารพและไว้วางใจ เพราะเรารู้เงินเดือนของพนักงานทุกคน ซึ่งทุกคนจะพยายามมาเอาใจใส่ เพื่อที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานบอกสิ่งที่เขาอยากรู้ก่อนเพื่อนๆ การที่เราเป็นผู้รู้และควบคุมความลับทั้งหมดไว้ ส่วนใหญ่พนักงานและหัวหน้าก็ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่ตัวเองมองดูแล้ว ก็มีข้อสงสัยว่าทำไม่อัตราเงินเดือน ต่างกันขนาดนี้ แต่พอเราเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นก็พอทราบถึงเหตุผลว่า การจ้างงาน ต้องมีการจ้างที่ไม่เท่ากัน ตามความต้องการของตลาด ตามแต่วิชาชีพที่ขาดแคลน วิชาชีพใดที่มีมาก หาได้ง่าย การกำหนดอัตราค่าจ้างก็จะต่ำกว่าตำแหน่งที่มีวิชาชีพที่ขาดแคลนอยู่ ณ ขณะนั้น
จากที่ได้เล่าข้อมูลเรื่อง การสรรหาและคัดเลือกผู้มาทำหน้าที่ การบริหารค่าจ้างขององค์กร ก็จะเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารของ HR จะต้องให้ความสำคัญที่จะต้องเลือกเฟ้นหาพนักงานที่มีความเป็นผู้ใหญ่ และมีทักษะ ความสามารถที่เก็บความลับได้ รับสารภาพกับการที่จะรับรู้ข้อมูลเงินเดือนเพื่อนร่วมงานและอัตราเงินเดือนผู้อื่นที่มีตำแหน่งสูงกว่าได้ โดยไม่มีความรู้สึกที่คิดมาก จนทำงานไม่ได้ ถ้าปล่อยไปหรือเลือกคนผิดไป จะทำให้เกิดปัญหาต่อองค์กรตามมาได้ จึงอยากจะฝากบอกมายังฝ่าย HR ที่จะต้องเฟ้นหาคนที่มีคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่งจะดีกว่าที่จะ หาใครมาก็ได้ที่มาทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น