หลายๆ องค์กร ได้มีการถกเถียงกันถึงเรื่อง การดูแลรักษาพนักงานที่เป็น Talent ขององค์กรอย่างไร เพื่อที่จะให้พนักงานดังกล่าวเกิดความรู้สึกที่ดี ไม่อยากที่จะออกไปไหน แต่สิ่งที่ผู้บริหารองค์กรต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนเก่งด้วยว่า โดยส่วนใหญ่คนเก่งจริงภายในองค์กรจะมีพฤติกรรมของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแสดงออกมาให้เห็น คนเก่งจริงมักไม่เรื่องมาก คนฉลาดจริงไม่มากเรื่อง ทัศนคติการแสดงออก จะอยู่ในลักษณะที่ออกมาในเชิงบวกเสียมากกว่า โปรแกรมการดูและรักษาคนเก่งขององค์กรควรจะต้องคำนึงถึง ความแตกต่างที่สามารถแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนได้ว่า ผู้บริหารองค์กรมีความตั้งใจในการดูและพนักงานกลุ่มนี้อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม ผู้เขียน จะขอยกตัวอย่าง การดูและรักษา ออกมาเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
- การบริหารผลตอบแทน ของพนักงานกลุ่มนี้ ควรจะต้องได้รับการพิจารณาการขึ้นเงินเดือนที่มีความแตกต่างจากพนักงานที่ได้ผลงานต่ำกว่า อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดแรงจูงใจที่พนักงานจะทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้กับองค์กร
- การเจริญเติบโตในสายอาชีพ เมื่อถึงระยะหนึ่งของการทำงานภายในองค์กร พนักงานต้องการคือ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน พนักงานกลุ่มนี้ ควรจะได้รับการพิจารณาจากผู้บริหาร ที่จะต้องมีการเติบโตได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น เพื่อเป็นการการันตีว่า สิ่งที่พนักงานทุ่มเทลงไป ได้รับการตอบรับจากผู้บริหาร
- การได้รับการพัฒนาตัวเองในหลักสูตรที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพ เมื่อพนักงานได้รับการพิจารณาได้ปรับตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้า/ผู้จัดการ สิ่งที่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญก็คือ การให้ความรู้ ในการบริหารจัดการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้พนักงานมีองค์ความรู้ เพื่อไปดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย
- การเป็นพี่เลี้ยง บางตำแหน่งงาน ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากหลักสูตรสัมมนาภายนอก จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานจากรุ่นพี่ๆ ภายในองค์กร ในการโค้ชและสอนงานในตำแหน่งงานนั้นๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้วิธีการทำงาน การเป็นแบคอัพให้ในกรณีที่ลูกน้องบางคนไม่ให้การเคารพและให้เกียรติหัวหน้า ที่เพิ่งได้รับการโปรโมทขึ้นมาใหม่
- การมอบหมายงานที่ท้าทาย คนเก่งบางคนไม่อยากทำงานแบบเดิมๆ ซ้ำๆ นานๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกเบื่องาน ผู้บริหารจำเป็นจะต้องมีการมอบหมายงานที่ท้าทายเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่างานที่เขาทำนั้น มีคุณค่าและสมควรที่จะได้รับการโปรโมทขึ้นมารับงานตำแหน่งนี้ ซึ่งผู้บริหารควรจะต้องมีการประกาศให้ทุกคนได้รับทราบด้วยว่า ใครรับผิดชอบงานอะไรบ้างที่สำคัญ
- การให้รางวัลที่อยู่ในรูปที่ไม่ใช่ตัวเงิน โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปในทาง การให้ความสำคัญ เช่นเป็นตัวแทนบริษัทในการประชุม/เปิดงาน เพื่อเป็นการเปิดตัวให้สังคมได้รับทราบและให้เกียรติของการก้าวเข้ามาสู่ในตำแหน่งนี้
สิ่งที่คนเก่งขององค์กรอยากได้ และผู้บริหารให้ความสำคัญในการบริหารองค์กร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานกลุ่มนี้ มีความรู้สึกว่า สิ่งที่เขาได้กระทำลงไปเพื่อองค์กรแล้วนั้น ผลที่ได้รับมาคุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งกายใจ
ดร.กฤติน กุลเพ็ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอโอดีคอนเซาท์ติ้ง แอนด์เทรนนิ่ง จำกัด
วิทยากรและที่ปรึกษา ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน