ในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้อธิบายถึง การบริหารคนให้มีความสอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจในสภาวะปัจจุบัน ซึ่งองค์การบางแห่งได้ผ่านยุคต่างๆ มาโดยเริ่มตั้งแต่ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม ยุคสารสนเทศ และยุคการจัดการความรู้ จนกระทั่งมาในขณะนี้เราก้าวเข้าสู่ยุคหลังการจัดการความรู้ ในฐานะผู้บริหารระดับสูงควรจะมีบทบาทในการบริหารองค์การให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
เมื่อเราเข้าสู่ยุคหลังการจัดการความรู้ นั้นเราเตรียมพร้อมเข้าสู่ สังคมการดูแล เอาใจใส่ การมีส่วนร่วมช่วยเหลือ และช่วยคิดช่วยทำ ซึ่งกันและกัน เพื่อนำพาสังคมไปสู่การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ผู้เขียนจะขออธิบายการวางกลยุทธ์ขององค์การให้มีความสอดคล้องกับสังคมยุคหลังการจัดการความรู้ โดยก่อนวางแผนกลยุทธ์องค์การต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้ง 4 ด้านหลักดังต่อไปนี้
- โครงสร้างองค์การ
ผู้บริหารต้องทราบก่อนว่าองค์การของท่านมีลักษณะโครงสร้างเป็นแบบใด เช่น ลำดับชั้นบังคับบัญชา(Hierarchical) หรือเป็นแบบแบนราบ (Flat Organization) การวางกลยุทธ์ด้านคนจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างดังกล่าวด้วยเพื่อให้มีความถูกต้องและชัดเจนมากยิ่งขึ้น - ลักษณะนิสัย/ค่านิยมขององค์การ
ผู้บริหารต้องศึกษาค่านิยมหลักขององค์การก่อนว่า คนในองค์การส่วนใหญ่มีค่านิยมขององค์การเป็นแบบใดเช่น ศึกษาพนักงานในเบื้องต้นว่ามีคนเก่าและคนใหม่มากน้อยเท่าใด พื้นฐานของพนักงานส่วนใหญ่เป็นประชากรจากภาคใด เป็นต้น เมื่อทราบพื้นฐานของพนักงานเบื้องต้นแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่จะได้วางแผนกลยุทธ์ให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับคนในองค์การ ซึ่งจะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกร่วมและมีตั้งใจในการทำงาน ช่วยเหลือองค์การได้มากที่สุด - ความสามารถหลักขององค์การ
ผู้บริหารโดยเฉพาะสายงานทรัพยากรมนุษย์ต้องวิเคราะห์พนักงานในองค์การก่อนว่า ทักษะและความสามารถหลักของพนักงานที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายองค์การได้นั้น มีความสามารถด้านใดบ้าง และ จะต้องเติมเต็มในด้านใด จะรับพนักงานด้านใดมาเพิ่มเติมเพื่อที่จะมาเสริมความสามารถหลักขององค์การ เพื่อที่จะให้องค์การบรรลุเป้าหมายตาม วิสัยทัศน์ พันธกิจแบบยั่งยืนได้ - สิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ
ก่อนกำหนดกลยุทธ์ผู้บริหารต้องทราบก่อนว่าสิ่งที่กำหนดแผนลงไปนั้นไปขัดกับ ชุมชนใกล้เคียงหรือไม่หรือสอดรับกับนโยบายชุมชนหรือเปล่า เช่น นโยบายขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) นโยบายของเทศบาลตำบล/เมืองเป็นต้นเมื่อผู้บริหารระดับสูงได้กำหนดกลยุทธ์หลักขององค์การ โดยคำนึงถึง 4 ประเด็นหลักที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้เขียนจะขออธิบายเพิ่มเติมในขั้นต่อไปว่าในฐานะผู้บริหารสูงสุดด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ จะนำเอากลยุทธ์หลักที่ผู้บริหารระดับสูงที่ได้วางไว้แล้วนั้นนำมาวางแผนด้านคนอย่างไร เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมกำลังพล ในด้านความรู้ ความสามารถและทักษะอย่างเหมาะสมเพียงพอทันต่อความต้องการขององค์การได้ ซึ่งผู้เขียนจะขอแนะนำการกำหนดหน้าที่งานทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ให้มีสอดคล้องกับยุคหลังการจัดการความรู้เสียก่อนดังนี้
ผังการกำหนดหน้าที่งานของด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ดังในแผนภาพจะเห็นได้ว่าองค์การส่วนใหญ่มักจะแบ่งเป็น HRM และ HRD ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวลงในรายละเอียดมากนะ แต่จะมาเพิ่มที่ องค์การยุคหลังการจัดการความรู้จะต้องมีฟังชั่นงานของ Human Resource Environment (HRE) ซึ่งจะประกอบไปด้วยงานหลักๆที่จะต้องมีความรับผิดชอบ เช่น จริยธรรมการดำเนินธุรกิจขององค์การ คุณภาพชีวิตของพนักงาน และบรรษัทภิบาล โดยทั้ง 3 ฟังชั่นงานหลักของทางด้าน HR จะต้องเตรียมการวางแผนด้านคนให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์หลักขององค์การ สำหรับในฟังชั่นงานการบริหารคนได้มุ่งเน้นที่จะให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน (Happy Workplace)
โดยการสร้างระบบการบริหารให้องค์การมีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีการจ่ายค่าตอบแทนที่มีความยุติธรรม ไม่เอาเปรียบพนักงานและมีหัวหน้าดูแลเอาใจใส่ลูกน้องอย่างเที่ยงธรรม เมื่อลูกน้องมีปัญหาในงานสามารถให้คำปรึกษาแก่ลูกน้องได้ ไม่ปล่อยให้น้องได้ไปเผชิญกับภาระงานที่หนักเพียงลำพังคนเดียว ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ความเครียดในการทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทางกายและจิตใจตามมา และส่งผลต่องานในหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์การจึงต้องวางแผนกลยุทธ์ โดยเน้นภาระกิจสำคัญดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
เมื่อฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ได้ทำการวางแผนกลยุทธ์ด้านคน ทั้ง 3 ฟังชั่นงานหลักให้มีความครอบคลุมทั้ง สามด้าน เช่น องค์การที่มีผลิตภาพ องค์การที่มีความยืดหยุ่น และ องค์การที่มีชีวิตวชีวา ซึ่งเป็นแผนกลยุทธ์ด้านคนที่มีความสอดคล้องกับยุคหลังการจัดการความรู้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่ากองค์การในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่ จะสร้างองค์การอย่างไร ให้เป็นองค์การที่มีชีวิตชีวา พนักงานมีความรู้สึกที่ดี มีความสุขในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และผลที่ตามมาคือ พนักงานเกิดความรู้สึกรักองค์การโดยไม่อยากออกไปอยู่ที่องค์การอื่น ถึงแม้ว่าที่อื่นจะมีการจ้างด้วยค่าตอบแทนที่จำนวนสูงกว่าก็ตาม
ดร. กฤติน กุลเพ็ง
“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”