ในยุคเปลี่ยนผ่านเข้ามาสู่ยุคดิจิทัล สิ่งที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จในสมัยอดีตอาจจะนำมาใช้ในสมัยปัจจุบันไม่ได้อีกแล้ว เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไป เวลาก็มีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้พบแนวทางใหม่ๆ ส่งผลต่อวิธีการ วิธีคิด ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่จะให้ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน การที่คนรุ่นใหม่ทำงานอะไร หลายอย่างๆ ในเวลาเดียวกันได้ แต่หัวหน้า ผู้จัดการมองว่า เป็นการกระทำที่ไม่ควร เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายมาถึงคุณภาพของงานที่ทำอยู่ ณ ขณะนั้น แต่อย่าลืมไปว่าความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ของคนแต่ละยุคไม่เหมือนกัน เราในฐานะเป็นคนอีกรุ่นหนึ่ง อาจจะมีมุมมองของคนรุ่นใหม่ไปอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในทางที่ไม่ดี ก็จะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกไปในทางขัดแย้งซึ่งกันและกัน ในทางความคิด โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในยุค Gen B และ X จะมีมุมมองในลักษณะการทำงานที่เป็นในทางเชิงอนุรักษ์นิยม ไม่กล้าเสี่ยง เน้นลักษณะการทำงานแบบเดิมๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ เพราะกลัวจะเกิดปัญหาแล้ว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยอมทำในสิ่งเดิมๆ ได้ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ Gen Y กล้าได้ กล้าเสีย คิดวิธีการ เพื่อที่จะนำรูปแบบสมัยใหม่มาใช้ เพราะว่า วิธีการทำงานแบบเดิมล้าสมัย ไม่ดึงดูดใจ ใช้เอกสารเยอะมากมาย มีหลายขั้นตอน บางอย่างควรตัดออก บ้าง จะเห็นได้ว่า สองแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกันภายในองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่เกิดมานานๆ มีวัฒนธรรมแบบฝังลึก มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ ก็ยิ่งทำให้กระทบต่อคนรุ่นใหม่ เกิดการต่อต้าน ในขั้นตอนของการปฏิบัติงาน เมื่อเกิดปัญหาขึ้น พนักงานกลุ่มนี้มักจะไม่ให้ความร่วมมือ ในการปฏิบัติงานของหัวหน้า/ผู้จัดการ เพราะเขามองว่า ไม่ใช่ความคิดของเขา สิ่งที่เขาเสนอไป ไม่ถูกการตอบรับที่ดี แถมยังออกกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ ให้การปฏิบัติงานเกิดความยุ่งยากขึ้นอีก จึงทำให้พนักงานกลุ่มนี้ ทำงานแบบตามสั่งเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ไม่ทำ เพราะส่วนหนึ่งไม่อยากรับผิดชอบงานที่เพิ่มขึ้น และเกรงกลัวความผิด ถ้าขืนทำอะไรผิดไป ก็จะถูกลงโทษจากหัวหน้า ขึ้นอีก ก็เลยทำให้กระบวนการทำงานเกิดความไม่ต่อเนื่อง พอหัวหน้างานไม่อยู่ มีปัญหาเกิดขึ้นมาในขั้นตอนการปฏิบัติงาน ก็ต้องรอคำสั่ง จากหัวหน้างานอย่างเดียว ซึ่งทำให้กระบวนการทำงานไม่มีการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น
ถึงเวลาแล้ว ที่ผู้บริหารองค์กร ผู้จัดการ หัวหน้างาน ที่อยู่ภายในองค์กร ต้องมีความเข้าใจถึงพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ ว่าเขามีความต้องการแบบใด แล้วเริ่มพัฒนาแนวคิดใหม่ เพื่อที่จะดึงศักยภาพของพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ออกมา โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดในการปรับปรุงงานภายในองค์กร ซึ่งให้เริ่มที่ในหน่วยงานตนเองก่อน โดยให้พนักงาน ได้นำเสนอแนวทางใหม่ๆ ในการปฏิบัติงานของตนเอง เพื่อแก้ใขปัญหาในงาน ที่รับผิดชอบคนละ 1 เรื่อง และให้พนักงานที่นำเสนอรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน ฉะนั้นในมุมมอง ผู้บริหารเกรงว่าอาจจะมีความเสี่ยง ในวิธีการทำงานแบบใหม่ ซึ่งก็ต้องยอมบ้าง เพื่อทดสอบแนวคิด วิธีการทำงานใหม่ๆ และยังได้ใจพนักงานรุ่นใหม่ ที่ได้มีบทบาท เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในงานด้วย ซึ่งวิธีนี้ ถ้าเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้มีความผิดชอบเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นความคิดของพวกเขาเอง จากประสบการณ์ของผู้เขียนแล้ว พนักงานกลุ่มนี้จะไม่ปล่อยให้งานเกิดความเสียหาย จะพยายามทำให้งานที่รับผิดชอบนั้นประสบความสำเร็จ และยังมีส่วนดึงให้พนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่มาช่วยกันปฏิบัติงาน ที่เขารับผิดชอบอยู่ ให้บรรลุเป้าหมายอีกด้วย เพราะว่าเขากลัวเสียหน้า เสียคำพูดที่ได้รับปากกลับผู้บริหารไป
Stephen P. Robbins ในหนังสือของเขาเรื่อง “The Truth About Managing People” บอกว่า มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง แต่กระนั้น การมีส่วนร่วมของพนักงานก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก และเป็นสิ่งที่ทรงพลังสำหรับการผลักดันงาน และการสร้างความรับผิดชอบร่วมกันใเป้าหมาย การตัดสินใจและการทำงานไม่น้อย
การมีส่วนร่วมนั้น เป็นวิธีการบริหารที่มีตรรกะ(Logic)ของความคิดที่ว่า การมีส่วนร่วมเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่รู้จริงในการทำงานมากที่สุด รวมทั้งคนที่อาจจะต้องไปปฏิบัติงานตามนั้น ได้แสดงความคิดเห็น และยังเป็นการย้ำเตือนให้พนักงานร่วมรับผิดชอบกับการตัดสินใจของเขาด้วย และเมื่อเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจแล้ว เข้าก็มักจะไม่ค่อยขัดขวางงานที่ต้องทำตามการตัดสินใจนั้น
อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ประสิทธิภาพของงานที่เกิดจากหัวหน้างานคนเดียวตัดสินใจหรือกำหนดเป้าหมาย กับหัวหน้า พนักงาน ร่วมกัน อาจจะไม่ต่างกันหรือต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ข้อนี้ช่วยเตือนว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ผู้บริหารระดับสูงก็ควรตัดสินใจไปโดยไม่ต้องมามัวคำนึงถึงการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยจ๋าไปซะทุกเรื่อง เพียงแต่ท่านก็ควรให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างการสื่อสารการตัดสินใจของท่านไปสู่พนักงานในระดับรองลงมาเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของพนักงานนั่นเอง
ในสถานการณ์ที่พนักงานต่างมีอัตราการลาออกสูงมาก หลายๆ องค์กรต่างเริ่มปรับตัวเข้าสู่การยอมรับและปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อพนักงานตรงที่ พนักงานได้รับความเคารพจากองค์กร มีการดูแลและให้ผลตอบแทนที่วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย เป็นต้น หนึ่งกลยุทธ์ที่องค์กรทั่วโลกใช้กันเพื่อดึงดูดและยืดอายุงานให้พนักงานอยู่กับองค์กรให้ได้นานที่สุด ก็คือ การสร้างมีส่วนร่วม หรือ ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร (Employee Engagement) ไม่ว่าจะเป็นการให้โอกาสให้พนักงานได้แสดงออก การเปิดรับฟังให้พนักงานได้พูดความในใจ การสร้างกิจกรรมเพื่อให้พนักงานได้มาร่วมสนุก หรืออะไรก็ตามที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่า พวกเขามีบทบาทอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าต่อองค์กรไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม เราพบว่า ‘การมีส่วนร่วมมีวันหมดอายุ’ กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่กิจกรรมที่องค์กรสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมได้สิ้นสุดลง กฏการลดน้อยถอยลงก็เริ่มทำงาน ต่างคนจากสนิทกันภายในวันสองวัน ก็กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ จนในที่สุด การมีส่วนร่วมก็กลับสู่สถานะเดิม ดังนั้นแล้ว การสร้างการมีส่วนร่วมหรือ Employee Engagement จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างโมเมนท์ตัมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็น วัฒนธรรมองค์กร
นอกจากความสม่ำเสมอของกิจกรรมจนเกิดเป็นบรรทัดฐานแล้ว ในฐานะนายจ้างหรือหัวหน้างานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับพนักงานให้ได้ เพราะแรงบันดาลใจคือความเชื่อ ความศรัทธาที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้อารมณ์ ความคิดและความรู้สึก ดังนั้นแล้ว หากพนักงานอะไรก็ตามที่ถูกขับเคลื่อนออกมาจากภายใน พวกเขาย่อมมีความตั้งใจและสร้างผลลัพธ์ของผลงานได้ดีกว่านั่นเอง
หลายๆ องค์กร นายจ้างหรือหัวหน้างาน สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้ แต่สร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พนักงานรู้สึกสนุกกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รู้สึกอินหรือมีอารมณ์ร่วมไปด้วย แม้ว่าประสิทธิภาพของการทำงานจะดีขึ้น แต่ก็ไมได้ช่วยลดอัตราการลาออกได้ในระยะยาวได้
อย่างที่บอกว่า การมี ‘ส่วนร่วม’ มีวันหมดอายุ เพราะการมีส่วนร่วมเริ่มต้นที่การปฏิบัติหรือภายนอก ซึ่งแตกต่างจากการสร้างแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากภายในเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ภายนอกหรือปฏิบัติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การสร้างแรงบันดาลใจเปรียบเสมือนอุปกรณ์เสริมที่จะต่อยอดให้การสร้าง Employee Engagement มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น
CLOMedia แสดงผลการศึกษา พบว่า การสร้างแรงบันดาลใจที่ต่อยอดจากการสร้าง Employee Engagement สามารถยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานได้มากกว่าเดิมถึง 27% ดังนั้นแล้วทั้ง Employee Engagement และการสร้างแรงบันดาลใจจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่กัน