การบริหารคนในยุคปัจจุบัน ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น อันดับต้นๆ ของการบริหารจัดการองค์การไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ตาม ซึ่งระบบราชการได้มีมติ ครม.ให้มีการยกเลิกระบบซีที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เปลี่ยนมาใช้ระบบแท่งแทน ทำให้ภาครัฐมีการปรับแผนยกระดับการบริหารบุคคลกันขนานใหญ่ อย่างไรก็ตาม การบริหารดังกล่าวจะประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ คงจะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจ กับตัวบุคคลที่ได้รับผลกระทบ ว่าระบบดังกล่าวมีผลดีต่อกระบวนการทำงานในอนาคตอย่างไร พร้อมทั้งผู้ที่จะนำไปปฏิบัติต้องมีความรู้อย่างแท้จริงในการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อองค์การ จะทำให้การบริหารผลตอบแทนประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้
จะเห็นได้ว่า การบริหารทางภาครัฐมีการปรับตัว ในส่วนของภาคเอกชนก็ได้มีวิวัฒนาการไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้เขียนจะขอยกประเด็น ความท้าทายในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ในอนาคต ว่ามีแนวคิดในการบริหารคนไปในลักษณะเช่นไร เพื่อที่จะให้นักบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้มีความตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า แนวโน้มของโลกมีแนวคิดในการบริหารคนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งถ้าเราไม่มีการปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัย การบริหารจัดการก็จะไม่ราบรื่น ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เพราะวิวัฒนาการของคนก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางตะวันตกอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะยุคการจัดการความรู้หรือโลกาภิวัตน์ เป็นการสื่อสารที่ไร้พรมแดน การบริหารภายในองค์การจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
จากข้อมูลด้านบนจะเห็นได้ว่า ความท้าทายในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เริ่มมีความต้องการที่เป็นสากลมากขึ้น
1. สะสมคนเก่ง-คนดี ไว้ในองค์การ
บริษัทเริ่มหันมาให้ความสนใจที่จะสร้างระบบการสรรหาคัดเลือก พนักงานที่เป็นคนเก่งและคนดี เข้าสู่องค์การ โดยแต่ละองค์การจะสร้างแรงจูงใจหรือดึงดูดคนที่เป็นคนเก่ง ให้เข้ามาร่วมงาน ด้วยการจ้างงานที่มีเงินเดือนและสวัสดิการสูงกว่าที่อื่น หลังจากนั้นก็มาใส่ใจดูแลพนักงานให้อยู่องค์การได้นานๆ โดย ให้ทุนการศึกษาต่อในระดับ ปริญญาโท ปริญญาเอก จนกระทั่งได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น
2. การจ้างงานที่เฉพาะพนักงานสายงานหลักในการทำธุรกิจ
ด้วยภาวการณ์แข่งขันค่อนข้างสูง ต้องมีการลดต้นทุนในการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน บริษัทจึงไม่เน้นจ้างพนักงานจำนวนมาก งานที่ไม่ใช่สายงานหลักของบริษัท ให้ใช้จ้างเหมางานแทน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนแรงงานได้ระดับหนึ่ง
3. ประชากรผู้สูงอายุ
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีระบบสาธารณูปโภคเข้าถึงทุกชุมชน ระบบทางการแพทย์มีความเจริญและเชี่ยวชาญสูง ทำให้ประชากรมีความอยู่ดีกินดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ทำให้ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่คนวัยทำงานกลับมีน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผู้สูงอายุ จึงเป็นแนวคิดของการบริหารคนในองค์การว่า จะบริหารคนเหล่านี้อย่างไร ให้ทำงานอย่างมีความสุขและได้ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพ
4. ยุคโลกาภิวัฒน์หรือการสื่อสารที่ไร้พรมแดน
ประชากรทุกหมู่บ้านมีโทรศัพท์มือถือ มีการใช้ Internet ในการติดต่อสื่อสารมากขึ้น การรับรู้ข่าวสารจากภายนอกมีมาก เมื่อมาเปรียบเทียบกับการบริหารจัดการสมัยก่อน ผู้จัดการไม่มีความรู้เรื่องนี้ ก็สามารถอยู่ได้ โดยอาศัยพระเดชพระคุณ ในการจูงใจพนักงาน แต่พอมาในยุคปัจจุบัน ผู้บริหารต้องมีความรอบรู้ทุกด้านมากขึ้น ต้องทันเหตุการณ์ และสามารถตอบสนองความต้องการของพนักงานได้ จึงจะได้รับการยอมรับ
5. คุณภาพชีวิตในการทำงาน
พนักงานที่เลือกเข้ามาทำงานในองค์การ เริ่มมีความใส่ใจต่อสุขภาพชีวิต ถ้าบริษัทใดที่เอารัดเอาเปรียบพนักงาน เอาเปรียบสังคม ไม่เคยช่วยเหลือสังคมเลย ก็จะถูกต่อต้านจากพนักงานในองค์การ โดยการจัดตั้งเป็นสหภาพขึ้นมาเพื่อเรียกร้องถึงเรื่องนี้ ซึ่งจะกระทบต่อพนักงานใหม่ที่จะเข้ามาร่วมงาน ไม่อยากเข้ามาร่วมงานด้วยผลที่จะเกิดกับองค์การก็คือ หาคนเก่ง คนดีมาร่วมงานไม่ได้
6. สนใจแง่คิดแบบ Global แต่ปฏิบัติแบบ Local
เป็นแนวคิดที่ถูกปลูกฝังให้กับพนักงานเพื่อให้คิดแบบ Global ซึ่งเป็นการนำแนวคิดแบบทันสมัยมาปรับใช้ในองค์การ โดยให้มีความเหมาะสมและสมควรแก่อัตตาภาพในองค์การของตัวเอง ซึ่งการนำมาปฏิบัติต้องมีการศึกษาอย่างท่องแท้เสียก่อนว่า มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์การหรือไม่ ไม่ใช่เห็นช้างขี้ก็ไปขี้ตามช้าง ทั้งๆ ที่บริษัทยังไม่สามารถไปแข่งขันในอีกระดับได้เลย
แนวโน้มการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ทั้ง 6 หัวข้อข้างต้น เป็นแง่คิดของการบริหารแบบสากล ผู้บริหารที่จะนำพาองค์การไปสู่องค์การแห่งความเป็นเลิศและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน คงจะต้องมีความตระหนักถึงแนวโน้มดังกล่าว เพื่อให้มีความสอดคล้องกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้การนำแนวคิดมาปฏิบัติใช้ในองค์การ ผู้บริหารจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับพนักงานทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้จัดการ ให้ทราบถึงแนวคิดของโลกยุคใหม่ว่า มีแนวคิดอย่างไร และเมื่อนำมาปฏิบัติแล้ว องค์การได้รับประโยชน์จากแนวคิดนั้นอย่างไรบ้าง ผลกระทบต่อพนักงานมีมากน้อยเพียงใด ซึ่งการชี้แจงในลักษณะนี้ต้องใช้เวลา และอาศัยความร่วมมือกับทีมผู้บริหารช่วยกันประชุมและชี้แจง ลูกน้องให้เกิดความเข้าใจ เสนอแนะแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งเปิดใจรับฟังอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ลูกน้องขาดขวัญและกำลังในการปฏิบัติงาน
ดร. กฤติน กุลเพ็ง
“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”