สำหรับองค์กรต่างๆ ที่อาจจะประสบปัญหาเกี่ยวกับผู้สมัครงานที่จะเข้ามาร่วมงานกับองค์กรหายากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรับเข้ามาร่วมงาน ก็ปฏิบัติงานได้ไม่กี่วัน ก็ลาออกหรืออาจจะพบปัญหาตำแหน่งงานว่างแต่ก็ไม่มีผู้สมัครที่ตรงคุณสมบัติเข้ามาปฏิบัติงานได้สักที บางครั้งองค์กรไปแก้ปัญหา โดยไปเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการเพิ่มขึ้นในตำแหน่งงานดังกล่าว สิ่งที่ตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายของบริษัทที่เพิ่มขึ้น เพราะว่าการปรับค่าจ้างขึ้นนั้น เมื่อปรับให้กับผู้สมัครใหม่ที่เข้ามาร่วมงานแต่อย่าลืมว่าพนักงานเก่าที่อยู่ภายในองค์กร ยังไม่เท่าเดิมก็จะเกิดปํญหา รับคนใหม่เข้ามา ทำให้คนเก่าลาออก เพราะว่าเงินค่าจ้างของพนักงานใหม่มากกว่าพนักงานที่ทำงานอยู่เดิม ซึ่งก็ยิ่งทำให้ปัญหาภายในองค์กรเพิ่มมากขึ้นเข้าไปอีก
การแก้ปัญหาในเบื้องต้นนั้น ควรจะต้องเริ่มวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริงก่อนว่าการหาผู้สมัครเข้ามาร่วมงานไม่ได้นั้น เกิดจากอะไรกันแน่ เช่น การประกาศรับสมัครดีแล้วหรือยัง งบประมาณค่าใช้จ่ายที่จัดทำเพียงพอหรือไม่ สิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นช่องทางที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายองค์กรหรือเปล่า
ข้อมูลดังกล่าว หน่วยงานสรรหาและคัดเลือก จะต้องเป็นผู้ดำเนินการเก็บข้อมูลจากผู้สมัคร เพื่อนำมาดำเนินการวิเคราะห์ เพื่อหาความเป็นได้เสียก่อนว่า ข้อมูลที่ได้มานั้นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ จะได้นำมาดำเนินการตัดสินใจเลือกช่องทางสรรหาคัดเลือกที่ถูกต้องได้
การดำเนินการควรเริ่มที่ การเก็บข้อมูลผู้สมัคร ที่เข้ามาเข้ารับการสัมภาษณ์ในองค์กร จะต้องสอบถามข้อมูลเชิงลึกว่า ผู้สมัครได้รับทราบข้อมูลจากสื่อโฆษณาช่องทางใด เช่น จากแผ่นป้ายโฆษณาหน้าบริษัท เพื่อนพนักงานภายในองค์กร เวบโฆษณาบริษัท วิทยุชุมชน จัดหางาน และป้ายรถรับส่งของพนักงานบริษัท เป็นต้น การเก็บข้อมูลทั้งหมดนี้ เมื่อได้รับมาแล้วจะทราบได้ว่าบริษัทของท่าน มีผู้สมัครมาจากช่องทางใดเรียงจากมากไปหาน้อย ระยะเวลาการเก็บข้อมูล 1 ปี ก็พอจะมองเห็นได้ว่าช่องทางที่ผู้สมัครให้ความสนใจและรับรู้ข้อมูล หน่วยงานสรรหาและคัดเลือกก็ควรจะนำเสนอผู้บริหารหน่วยงาน HR เพื่อปรับเพิ่มงบประมาณในส่วนที่เป็นช่องทางที่ผู้สมัครสนใจเข้ามามากที่สุด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการพัฒนาช่องทางการสรรหาพนักงานขององค์กรของท่านให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และหลังจากนั้นก็เก็บข้อมูลต่ออีกว่าจากการที่บริษัทลงทุนงบประมาณเพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนผู้สมัครมีความสนใจมากขึ้นมากน้อยเพียงใด
การแก้ปัญหาในเบื้องต้น ที่สามารถประหยัดงบประมาณมากที่สุด ซึ่งการดำเนินการลักษณะดังกล่าว สามารถกระทำได้เลย โดยไม่ต้องมีผลกระทบหน่วยงานอื่นภายในองค์กร หัวหน้าหน่วยงาน HR สามารถเป็นผู้ตัดสินใจดำเนินการได้ การกระทำลักษณะดังกล่าวนี้ จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตรงประเด็นได้อีกด้วย อย่าลืมว่าแต่ละองค์กรมีสถานที่ตั้งที่ต่างกัน พนักงานที่อยู่ภายในองค์กรมีการรับรู้ที่แตกต่างกัน ฉะนั้นจึงต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างเหมาะสมและถูกต้องของแต่ละองค์กร ไม่สามารถไปลอกเลียนแบบของแต่ละองค์กรมาได้ เพราะว่าแต่ละองค์กรมีที่มาที่แตกต่างกัน
ที่มาข้อมูล : ดร.กฤติน กุลเพ็ง การสรรหาและคัดเลือกพนักงานเข้าสู่องค์กร 2564