การสรรหาคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงาน HR โดยตรง จะต้องสรรหาผู้สมัครที่จบการศึกษาในสาขาที่บริษัทต้องการจะรับ ซึ่งในเบื้องต้นมุ่งเป้าไปตรงประเด็นนี้ เพราะว่าโดยหลักการนักศึกษาที่เลือกเรียนสาขาใด ก็ต้องการที่จะต้องอยากปฏิบัติงานในสาขาที่เรียนมา ด้วยหลักเกณฑ์ลักษณะนี้ควรกำหนดไว้เป็นแนวปฏิบัติ ในการรับคนเข้าสู่องค์กร เพื่อป้องกันเด็กฝากจากหน่วยงานต่างๆ โดยกติกาที่เขียนเป็นแนวปฏิบัติไว้ทุกหน่วยงานควรจะต้องเคารพกติกาแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้โดยผู้บริหารสูงสุด กรณีที่ไม่ได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จากประสบการณ์ของผู้เขียน ก็จะมีเอกสารบันทึกแนบใบสมัครมา เรื่อง เหตุผลที่จะต้องรับพนักงานวุฒิและสาขาที่จบมาไม่ตรงกับลักษณะงาน โดยอ้างเหตุผลว่า พนักงานมีประสบการณ์ทางด้านนี้มาโดยตรง และเป็นความประสงค์ของหน่วยงานที่จะรับด้วย จึงขออนุมัติรับพนักงาน
เมื่อมีบันทึกลักษณะนี้มา ถ้าหน่วยงาน HR ไม่คิดอะไรมาก ก็จะยินยอมตามที่หน่วยงานต้องการ จะเกิดปัญหาขึ้นอีกครั้งก็ต่อเมื่อ องค์กรมีการทำแผนสืบทอดตำแหน่งงานในอนาคต โดยหลักการบริษัทจะต้องวางแผนกำหนดแนวทางการเขียนมาตรฐานตำแหน่งงานของแต่ละตำแหน่งงานเอาไว้ ซึ่งในรายละเอียด จะต้องถูกกำหนดไว้ใน แนวปฏิบัตินี้ เลยทำให้พนักงานที่จบสาขามาไม่ตรงลักษณะงาน เกิดปัญหาในการเติบโตในสายงานอีก ทำให้องค์กรต้องมาทำแผน การเขียนมาตรฐานตำแหน่งงาน ที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อช่วยเหลือพนักงานคนดังกล่าวต่ออีก จึงทำให้กระทบกระเทือนระบบการพัฒนาการเติบโตของพนักงานภายในองค์กร ฉะนั้นจึงให้ผู้บริหารได้มีความตระหนักในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในลักษณะที่ผู้เขียนได้กล่าวมา เห็นควรกำหนดการรับผู้สมัครที่จบมาให้เป็นไปตามลักษณะงาน
สำหรับในยุคที่มีผู้สมัคร ที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่องค์กร ผู้บริหารทางด้าน HR ต้องให้ความสำคัญในเรื่อง กระบวนการสรรหาคัดเลือก เป็นอันดับแรก ซึ่งผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเป็นแต่ละหัวข้อ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับแนวทางในการสรรหาคัดเลือก ให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน
- การกรอกใบสมัคร โดยทั่วไปแทบทุกองค์กร อยากจะให้ผู้สมัครเดินทางมาที่บริษัท เพื่อมากรอกใบสมัครด้วยตนเอง เพื่ออยากเห็นหน้า ผู้สมัครที่แท้จริง หรือด้วยเหตุผลอื่นคือ การมองถึงความกระตือรือล้น ในการที่จะทำงานของผู้สมัคร ที่แสดงออกถึงความตั้งใจ ซึ่งด้วยเหตุผลของผู้บริหารองค์กรได้กล่าวมา ก็จะยิ่งทำให้ได้รับการปฏิเสธ จากผู้สมัครมาโดยตลอด เพราะในโลกยุคใหม่ การกรอกใบสมัคร เป็นขั้นตอนที่ถือว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่ผู้สมัครจะต้องเดินทางมายังบริษัท เพื่อเพียงแค่กรอกและยื่นเอกสารสมัครงาน ในมุมมองของผู้สมัครได้มีเหตุผลว่า การกรอกใบสมัครงาน มีวิธีการอื่นที่อำนวยความสะดวก อีกมากมาย เช่น การสมัครผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท หรือไม่มีเว็บไซต์ของบริษัท อาจจะใช้วิธีการส่งใบ สมัครทาง mail แล้วส่งกลับ ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถกระทำได้ ถือว่าเป็นการลดขั้นตอนในการทำงาน ย่นระยะเวลาการเดินทางของผู้สมัคร ที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาในการเดินทาง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้สมัคร จะเลือกองค์กรที่เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ แล้วดำเนินการสมัครงาน องค์กรที่มีข้อเสนอในเรื่องเหล่านี้ เป็นอันดับแรกๆ ด้วยลักษณะนิสัยของคนรุ่นใหม่ การเขียนด้วยลายมือ ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะเขาจะถนัดการพิมพ์บนแป้นพิมพ์เสียมากกว่า ซึ่งบางองค์กรจึงได้ปรับระบบการเขียนใบสมัครงานนอกจากผ่านทางเวบแล้ว ยังสามารถมานั่งคีย์ข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่บริษัทได้ หน่วยงาน HR ก็มีความจำเป็นที่จะต้องคิดหาทาง เพื่ออำนวยความสะดวกของผู้สมัครให้มีทางเลือก เพื่อที่จะได้ผู้สมัครเข้ามาเป็นตัวเลือกให้กับองค์กร
- การตรวจรับเอกสารในการสมัครงาน เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้สมัครเดินออกจากองค์กร เพราะไม่พอใจ หน่วยงาน HR ที่ไม่รับเอกสารที่เป็นสำเนา บางองค์กร เขียนกฎเกณฑ์ไว้มากมาย จนไม่สามารถปฏิบัติได้ เสียผู้สมัคร สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของบริษัท ด้วยความเข้าใจของผู้สมัครยุคปัจจุบัน เดินทางมา ไม่ถือเอกสารที่สำคัญมาที่องค์กร แต่ผู้สมัครได้ copy ข้อมูล สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน วุฒิการศึกษา ไว้ใน Handy Drive ทั้งหมด สามารถ ส่งข้อมูลให้กับทางบริษัทได้ตลอดเวลา ฉะนั้นในส่วนนี้ทางบริษัทอาจจะต้องเซ็ทระบบการรับเอกสารข้อมูลในการสมัครงานของผู้สมัครไว้ โดยรับเอกสารที่เป็น file เอกสารก่อน เมื่อถึงวันที่บริษัททำสัญญาในการับเข้าเป็นพนักงานจริง จึงต้องขอเอกสารที่เป็นตัวจริงประกอบหรือรับรองสำเนา ว่าเป็นสำเนาฉบับจริง ซึ่งในหัวข้อสุดท้ายของใบสมัครงาน ได้ระบุไว้อยู่แล้ว ตามตัวอย่าง “ ข้าพเจ้าขอรับรองว่า ข้อความดังกล่าวทั้งหมดในใบสมัครนี้เป็นความจริงทุกประการหากปรากฏว่า ข้อความในใบสมัครงานเอกสารที่นำมาแสดง หรือรายละเอียดที่ให้ไว้ไม่เป็นความจริง บริษัท มีสิทธิ์ที่จะเลิกจ้างข้าพเจ้าได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น” ซึ่งเชื่อว่าทุกบริษัทจะมีข้อมูลดังกล่าวนี้ไว้ เพื่อป้องกันกรณีผู้สมัคร ให้ข้อมูลเท็จ หรือในกรณีที่กลัวว่าผู้สมัครจะกระทำการที่อันอาจจะเกิดความเสียหายต่อบริษัท บางองค์กรจำเป็นต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะมีการผ่านทดลองงาน เช่น การตรวจสอบวุฒิการศึกษา การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม เป็นต้น
- การสัมภาษณ์เบื้องต้น เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ หน่วยงาน HR ได้ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้สมัครในเบื้องต้นก่อน เพื่อตรวจว่า ผู้สมัครมีทัศนคติ ความรู้ และทักษะ สามารถที่จะปฏิบัติงานในตำแหน่งที่องค์กรต้องการหรือไม่ โดยส่วนใหญ่จะกระทำในขณะที่ ผู้สมัครมาเขียนใบสมัครเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ในกรณีที่ ผู้สมัครไม่ได้เดินทางมาที่องค์กร หน่วยงาน HR อาจจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการสัมภาษณ์เบื้องต้นของผู้สมัครใหม่ โดยการสัมภาษณ์ผ่านทางระบบ Line Facetime Skype เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหา ที่ไม่ต้องให้ผู้สมัครเดินทางมาที่บริษัทและเป็นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม กับผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครเป็นคนรุ่นใหม่ ชอบแสดงออกทางความคิด อยากมีส่วนร่วม เทคนิคการสัมภาษณ์ที่หน่วยงาน HR เคยปฏิบัติกันมายาวนาน โดยการซักถามผู้สมัครฝ่ายเดียว อาจจะต้องปรับเปลี่ยน ไปตามสมัยและพฤติกรรมของคน โดยการให้ผู้สมัคร เป็นผู้แสดงออก นำเสนอตัวเอง แทนการสัมภาษณ์จากหน่วยงาน HR ซึ่งทางบริษัทอาจจะต้องให้หัวข้อแก่ผู้สมัครไปว่า จะให้นำเสนอเรื่องใด เป็นพิเศษ ซึ่งกรณีนี้จะจัดทำเป็น VDO มีความยาวไม่เกิน 5 นาที ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้สมัครเกิดความประทับใจ และอยากร่วมงานกับองค์กรของเรามากขึ้น เพราะไม่ได้ถูกบังคับมาอยู่ในกรอกขององค์กรอย่างเดียว การดำเนินการในลักษณะแบบนี้ กำลังเป็นที่นิยมกันมากขึ้น สำหรับการสัมภาษณ์พนักงานสำหรับคนรุ่นใหม่หรือที่เรียกว่า Recruiting by Activity เป็นการสัมภาษณ์แนวใหม่ที่เหมาะสมกับผู้สมัครที่เป็น Gen Y
- การจัดอาหารกลางวัน ให้กับผู้สมัครงานที่ เข้ามารับการสัมาภาษณ์ที่บริษัทแล้ว คณะกรรมการสัมภาษณ์ไม่สามารถดำเนินการสัมภาษณ์ให้แล้วเสร็จภายในก่อนเที่ยงได้ ซึ่งในทางปฏิบัติ หน่วยงาน HR จะต้องจัดหาอาหารกลางงวันให้กับผู้สมัคร เพื่ออำนวยความสะดวกให้เพราะเป็นความผิดขององค์กร ที่ดำเนินการสัมภาษณ์ใช้เวลานานไป ถ้าเป็น HR รุ่นเก่าๆ จะต้องทำเป็นหน้าที่และเซ็ทเป็นระบบเอาไว้ใน ขั้นตอนในการทำงานของเจ้าหน้าที่สรรหาและคัดเลือก แต่พอมาถึง HR ยุคใหม่ในส่วนนี้จะหายไป ซึ่งผู้เขียนมองว่า การตอบแทนผู้สมัคร โดยการจัดอาหารกลางวัน จะเป็นสิ่งที่ดี ผู้สมัครมองบริษัทไปในเชิงด้านบวกมากกว่า ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้สมัครจะตัดสินใจมาอยู่กับองค์กรก็ได้
- การออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาสัมภาษณ์ หัวข้อนี้ ที่ผู้เขียนได้ นำมาเป็นตัวอย่าง ในหัวข้อของกระบวนการสรรหาคัดเลือกแนวใหม่ ที่หน่วยงาน HR รุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยได้ปฏิบัติ ถูกละเลย ไม่มีเขียนในขั้นตอนในการปฏิบัติงาน อย่าลืมว่า ผู้สมัครเดินทางมาสมัครงาน โดยการที่บริษัทได้โทรติดต่อหรือการเลือกใช้ช่องทางในการสรรหา มาช่องทางใด ช่องทางหนึ่งก็ตาม ซึ่งกรณีนี้จะมีการกำหนดไว้เป็นกฎเกณฑ์ กรณีที่ผู้สมัครเดินทางมายังบริษัท ที่มีระยะทางห่างจากบริษัทในรัศมีที่เกิน 100 กม. บริษัทจะออกค่าใช้จ่าย ตามที่จ่ายจริง โดยยึดอัตราค่าโดยสาร บขส.ในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้เขียนได้ยกประเด็นเรื่องนี้ เป็นการเสริมสร้างองค์กร กรณีที่บริษัทได้วัฒนธรรมองค์กร (core value) ด้าน การมีคุณธรรม จริยธรรม และความโปร่งใส จะทำให้ได้ใจผู้สมัคร และมององค์กรในภาพลักษณ์ที่ดี เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรให้ดูดีขึ้นอีกด้วย
- การแจ้งผลการสัมภาษณ์ เป็นขั้นตอนหนึ่ง ที่หน่วยงาน HR มักจะละเลย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ HR จะแจ้งผู้สมัครกรณีที่ผ่านการสัมภาษณ์เท่านั้น กรณีที่ผู้สมัครไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ก็จะเลือกที่จะไม่แจ้ง จึงทำให้ผู้สมัครที่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ต้องนั่งรอผลการสัมภาษณ์ หรือต้องโทรมาที่หน่วยงาน HR เอง เพื่อขอทราบผล ซึ่งผู้เขียนมองว่า เป็นการทำงานแบบเชิงรับมากกว่า ถ้าเราเปลี่ยนบทบาทใหม่ โดยการแจ้งผลการสัมภาษณ์ทั้งสอง กรณี คือผู้สมัครที่ผ่านการสัมภาษณ์ และผู้สมัครที่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ให้ทำเป็นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งไปยังผู้สมัครเป็นรายบุคคล ซึ่งกรณีผู้สมัครที่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์จะมีจำนวนมากกว่า การทำหนังสือแจ้งผลการสัมภาษณ์ให้ทราบ จะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อองค์กรมากกว่าที่จะเงียบหายไปเฉยๆ และถูกมองว่า เป็นองค์กรที่มี หน่วยงาน HR ที่มีความเป็นมืออาชีพ เพราะการที่ผู้สมัครไม่ผ่านการสัมภาษณ์ เขาอาจจะไม่เลวร้าย แต่บริษัทมีตัวเลือกที่ดีกว่าจึงถูกเลือกไปก่อน แต่บริษัทยังเก็บประวัติของผู้สมัครในตำแหน่งที่เหมาะสมต่อไป เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมมีตำแหน่งว่างที่บริษัทต้องการ HR อาจจะต้องใช้ประวัติเดิม เรียกเข้ามาสัมภาษณ์ต่อไป จะเป็นการได้ข้อมูลผู้สมัครที่มีอยู่แล้ว นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร และสิ่งที่ได้ตามมาก็คือ ความรู้สึกที่ผู้สมัคร มององค์กรของเราในทางที่ดี อยากร่วมงานด้วย
- การตรวจร่างกายพนักงานก่อนเข้าปฏิบัติงาน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสรรหาคัดเลือก ซึ่งโดยปกติแล้ว บริษัทจะดำเนินการการตรวจร่างกายพนักงานก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาจ้างงานของบริษัท แต่ในทางกฎหมายกำหนดให้นายจ้างตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งแรกให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นายจ้างทราบข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพของลูกจ้างก่อนเข้ามาสัมผัส ปัจจัยเสี่ยงที่มีในบริษัท
“ตามที่กฎกระทรวงฯ ข้อ ๓ กำหนด ซึ่งกฎหมายมุ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างในอันที่จะจัดให้ลูกจ้าง ได้ตรวจ สุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง พระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ มาตรา ๗ กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ออก ค่าใช้จ่าย ” จากการปฏิบัติของแต่ละบริษัท ก็ยังมีการกระทำที่ผิดๆ อยู่ โดยการผลักภาระไปให้กับผู้สมัครเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจร่างกายเอง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย ที่บริษัทควรจะต้องเป็นออกมากว่า การผลักภาระ การตรวจร่างกายในลักษณะนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ไม่สามารถดึงดูดผู้สมัครเข้ามาสู่องค์กรได้ ประกอบกับในโลกข้อมูลปัจจุบัน ผู้สมัครได้มีการตรวจสอบข้อมูล ด้านข้อเท็จจริง ทางอินเตอร์เนท จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้สมัคร จะเลือกเข้าสู่องค์กรที่ปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกต้องของกฎหมาย ซึ่งในส่วนนี้หน่วยงาน HR จำเป็นจะต้องให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง แก่ผู้บริหารองค์กรเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง จะได้แก้ปัญหาการสรรหาคัดเลือกคนเข้าสู่องค์กรได้ระดับหนึ่ง
- การประเมินผลผ่านทดลองงาน การที่พนักงานได้รับการดูแลเอาใจใส่ในการปฏิบัติงานตั้งแต่ กระบวนการการคัดเลือก การวางระบบพี่เลี้ยง เมื่อพนักงานได้รับการดูแลที่ดี ย่อมแสดงออกในเชิงพฤติกรรมในการทำงานที่ดี หัวหน้างาน/ผู้จัดการ ย่อมจะต้องให้ความสำคัญ เรื่อง ผลการประเมินการผ่านทดลองงาน สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะยกตัวอย่าง ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานที่เกิดความประทับใจจากหัวหน้า โดยการได้รับทราบผลการประเมินการผ่านทดลองงาน ก่อนเกณฑ์ที่กำหนดขององค์กร กรณีที่พนักงานมีผลงานดีเด่น เช่น บริษัทมีกำหนดระยะเวลาในการประเมิน 120 วัน แต่พนักงานมีผลการปฏิบัติที่สูงกว่ามาตรฐานกว่าพนักงานทั่วไป ผู้บริหารย่อมสามารถนำเสนอข้อมูลการพิจารณาดังกล่าว ให้มีการบรรจุแต่งตั้ง เป็นพนักงานก่อนกำหนดก็ได้ โดยอาจจะให้มีการได้รับการปรับเงินเป็นกรณีพิเศษให้กับพนักงาน ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดพนักงาน ให้เกิดความรู้สึกอยากอยู่กับองค์กรต่อไป ทั้งๆ ที่ได้รับการติดต่อจากบริษัทอื่น ที่เสนอออฟชั่นเรื่อง ค่าจ้าง สวัสดิการ สูงกว่าที่ได้รับอยู่ แต่เมื่อบริษัทได้มีระบบการปรับเปลี่ยนวิธีการ การบรรจุแต่งตั้ง และการพิจารณารเป็นกรณีพิเศษ ให้กับพนักงานที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ก็จะทำให้แนวคิดของพนักงาน ที่อยากจะเปลี่ยนงาน ต้องล้มเลิกไปก็ได้ ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้น ก็จะเป็นหน้าที่ของหัวหน้า/ผู้จัดการ ที่ดูแลกำกับในสายงาน โดยการประสานงานกับหน่วยงานทางด้าน HR เพื่อวางหลักเกณฑ์ การพิจารณาการประเมินการผ่านทดลองงานให้เป็นระบบ โดยมีตัวชี้วัดให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นแล้ว การดำเนินการดังกล่าว จะส่งผลให้พนักงานที่อยู่เก่าๆ เกิดมีปัญหาขึ้นมาได้เช่นกัน
การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ จะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ผู้สมัครที่มีความต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จะตัดสินใจที่จะมาร่วมงานภายในองค์กรมากขึ้น เพราะพฤติกรรม ของคนรุ่นใหม่ มีความมั่นใจสูง ต้องการความสำเร็จเร็ว และชอบงานที่ท้าทาย ฉะนั้นการวางระบบที่ดี จะทำให้องค์กรได้ผู้สมัครที่เป็น Talent เข้ามาร่วมงานมากขึ้น มีตัวเลือกมากขึ้น ส่งผลดีต่อองค์กร ซึ่งทั้งนี้ผู้บริหารที่เป็น CEO จะต้องมีความเข้าใจในระบบงาน HR และพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ถ้าผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ยังไม่ค่อยเห็นด้วยในประเด็นนี้ โอกาสที่องค์กรจะปรับเปลี่ยนก็เป็นไปได้ยาก เพราะหน่วยงาน HR มีแนวคิดที่ปรับเปลี่ยนไปในทางที่สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่เพียงหน่วยงานเดียว ก็ไม่สามารถผลักดันให้ประสบความสำเร็จได้ สำหรับประเด็นนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับสูงจนถึงผู้บริหารระดับฝ่ายงาน เพื่อเป็นพลังผลักดันให้ระบบลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ สิ่งที่จะส่งผลตามมาก็คือ ผู้สมัครที่สนใจความก้าวหน้าของบริษัทข้างเคียง ก็จะมีการเปลี่ยนงานเข้ามาสนใจองค์กรของเรา ผู้เขียนยังมองไกลไปถึงกรณีที่ผู้สมัครมีศักยภาพ ที่มีประสบการณ์จากองค์กรอื่น อาจจะมีระบบทดสอบ และมีการจ้างงานที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการทดลองงานด้วย ซึ่งในกรณีนี้จะยิ่งทำให้องค์กรดึงดูดผู้สมัครที่ศักยภาพ และมีประสบการณ์ อยากเปลี่ยนงาน แต่ยังไม่มั่นใจว่าไปแล้วจะผ่านทดลองงานหรือไม่ จะรีบตัดสินใจเข้ามาร่วมงานภายในองค์กรของเรามากขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปใช้บริการ บริษัท Head Hunter หาคนเข้ามาร่วมงาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปโดยเปล่าประโยชน์
หน่วยงาน HR และผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ต้องมีความเข้าใจในงานส่วนนี้ก่อน แล้วค่อยคิดสิ่งที่สร้างความแตกต่างจากองค์กรอื่น ที่เขาไม่เคยทำ ก็จะยิ่งทำให้เปิดประเด็นที่พนักงานภายในองค์กรได้มีการบอกต่อๆ กัน ไปสู่ภายนอก ก็จะเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น โดยไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในการลงโฆษณา ให้เปลืองงบประมาณบริษัท
ดร.กฤติน กุลเพ็ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอโอดีคอนเซาท์ติ้ง แอนด์เทรนนิ่ง จำกัด
วิทยากรและที่ปรึกษา ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน ID line: krittin6