การประกาศวันหยุดประเพณีของบริษัทตามกฎหมายแล้ว ในรอบ 1 ปี จะต้องมี 13 วัน ซึ่งทางบริษัทจะประกาศเป็นวันหยุดประเพณี โดยจะเลือกวันใดก็ได้ให้เป็นวันหยุดประเพณี แต่มีข้อแม้ว่าใน 13 วันนั้นจะต้องมีวันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันหยุดประเพณีของบริษัทด้วย
วันหยุดประเพณีที่ประกาศแล้วนั้น เปรียบเสมือนวันหยุดของพนักงาน เมื่อพนักงานมาทำงานในวันหยุดประเพณีจะได้รับค่าจ้างเพิ่มอีกหนึ่งเท่า กรณีที่พนักงานปฏิบัติงานเกิน 8 ชั่วโมงจะได้รับค่าล่วงเวลาเป็นสามเท่า แต่ในทางปฏิบัติเมื่อเป็นวันหยุดประเพณี พนักงานส่วนใหญ่อยากจะหยุด ไม่อยากมาปฏิบัติงาน จึงทำให้บางหน่วยงานที่มีความจำเป็นจะต้องให้มีพนักงานมาปฏิบัติงาน การมาปฏิบัติงานในวันหยุดประเพณีจะได้รับค่าจ้างเพิ่มอีกหนึ่งเท่าตามกฎหมาย จึงทำให้มูลค่าที่จะมาปฏิบัติงานในวันดังกล่าว ไม่สร้างแรงจูงใจให้พนักงานมาปฏิบัติงานมากนัก บางบริษัทจึงมีการปรับค่าจ้างกรณีที่พนักงานมาปฏิบัติงานในวันหยุดประเพณี เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ จะได้คับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งเท่าครึ่งถึงสองเท่า เป็นต้น
ประเด็นการหยุดชดเชยวันหยุดประเพณี ยังมีข้อพิจารณาอีกกล่าวคือ กรณีพนักงานที่วันหยุดตรงกับวันหยุดประเพณีของบริษัท จะให้เลื่อนวันหยุดของพนักงานมาหยุดอีกหนึ่งวันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งการหยุดในลักษณะนี้จะกระทำกันโดยทั่วไปแทบทุกบริษัท สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาการเลื่อนวันหยุดพนักงานกรณีที่วันหยุดพนักงานตรงกับวันหยุดประเพณี โดยเฉพาะเดือนธันวาคม เช่นวันสิ้นปี 31 ธันวาคม เมื่อตรงกับวันหยุดพนักงาน ถ้าในทางปฏิบัติกัน ก็จะดำเนินการเลื่อนวันหยุดพนักงานมาเป็นวันถัดไป คือวันที่ 1 มกราคม ของปีใหม่ แต่วันที่ 1 มกราคม เป็นวันหยุดประเพณีของอีกปี หยุดไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเลื่อนมาหยุดในวันที่ 2 มกราคม เป็นต้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อมีการเลื่อนวันหยุดประเพณีจากปีที่แล้วมาปีนี้ จะทำให้วันหยุดประเพณีของปีที่แล้วมีจำนวนวันเหลือแค่ 12 วัน ซึ่งจะไม่ครบ 13 วันตามกฎหมาย ประเด็นพิจารณาสำหรับเรื่องนี้ ในฐานะฝ่าย HR พึงระวังการเลื่อนวันหยุดชดเชยกรณีที่เป็นวันสิ้นปี ควรจะต้องเลื่อนเข้ามาให้อยู่ในปีเดียวกัน จะได้ไม่เกิดปัญหาวันหยุดประเพณีของในปีเก่าเหลือไม่ครบ 13 วัน