การตรวจร่างกายพนักงานที่บริษัท จะต้องรับเข้ามาทำงาน ซึ่งบางองค์กรได้ระบุเอาไว้ ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติงาน จะต้องตรวจเลือดเพื่อดูผล HIV ขั้นตอนการตรวจในฐานะ HR จะต้องทราบและมีความเข้าใจในกระบวนการของกฎหมาย ที่มีความคุ้มครองผู้ถูกตรวจ ในกรณีดังกล่าว ถ้าฝ่าย HR ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ อาจะถูกกล่าวหาหรือถูกฟ้องร้องจาก ผู้ถูกตรวจได้

จากตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ ในการตรวจผู้สมัครที่ได้รับการตรวจร่างกาย ก่อนเข้าปฏิบัติงาน ซึ่งในการตรวจร่างกายก่อนเข้าทำงาน บางองค์กรอาจจะมีการตรวจ เพื่อดูผล ไวรัสตับอักเสบ วัณโรค ตาบอดสี   HIV และ ระบบการได้ยิน   เป็นต้น การตรวจทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมา สิ่งที่ หน่วยงาน HR จะต้องตระหนักและมีความรอบรู้ ในเรื่อง การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจ HIV จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้สมัครก่อนเสมอ เราจะต้องมีแบบฟอร์มให้ผู้สมัครได้เซ็นเอาไว้เป็นหลักฐาน โดยส่วนใหญ่ผู้สมัครอยากได้งานทำ ก็จะไม่มีเหตุการณ์อะไรที่เป็นประเด็นเรื่องแบบฟอร์มเท่าใดนัก   เมื่อผลการตรวจร่างกายออกมาแล้ว จะต้องมีขั้นตอนบอกผล ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ผู้สมัครจะโทรมาสอบถามผล   หรือกรณีไม่ผ่านยิ่งทำให้ผู้สมัครให้ความสนใจสอบถาม ผลการตรวจร่างกาย ถ้าเป็นกรณีผลการตรวจ HIV ที่มีผลเป็น Positive จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก

เคยมีตัวอย่างจากบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ฝ่ายบุคคลได้แจ้งผล กรณีผู้สมัครที่รับการตรวจ HIV แล้วมีผลเป็น Positive เมื่อผู้สมัครได้รับผลดังกล่าว ได้ตัดสินใจฆ่าตัวเองตาย โดยการโดดตึกของบริษัท จนถึงแก่ความตาย สิ่งนี้เลยเป็นอุทาหรณ์ให้สำหับนักบริหารงานบุคคลทั้งหลาย ที่จะต้องมีความรู้ และความเชี่ยวชาญขั้นตอนในการบอกผลดังกล่าว จากตัวอย่างทำให้เกิดฟ้องร้อง ผู้บอกผลให้ผู้สมัครทราบโดยพลการ ที่ไม่ใช้มีอำนาจหน้าที่ในการบอกผล เพราะว่ากฎหมายได้ให้อำนาจแก่ แพทย์ผู้รักษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญผ่านการอบรมด้าน การให้คำปรึกษา ในกรณีที่ผู้สมัครตรวจร่างกายแล้วมีผลที่เป็น Positive แพทย์ที่เป็นผู้รักษา จะต้องเชิญผู้ติดเชื้อมาทำการบอกผลด้วยตนเอง และจะต้องมีจิตวิทยาในการบอกผล เพื่อที่จะไม่ให้ผู้ติดเชื้อเกิดความไม่สบายใจเกิดขึ้นได้ จากตัวอย่างฝ่ายบุคคลได้แจ้งผล กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ผ่านแพทย์ผู้รักษาถือว่าเป็นการผิดขั้นตอนในการแจ้งผลการตรวจร่างกาย เป็นการผิดกฎหมาย และต้องได้รับโทษด้วย

เมื่อผู้สมัครที่ได้รับการตรวจเลือด HIV แล้ว และสอบถามมายังหน่วยงาน HR ทักษะของการแจ้งผลจะบอกอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าว การพูดเพื่อไม่ให้ผู้สมัครเกิดความรู้สึกว่าเขาเป็น HIV คำพูดที่ใช้ อาจจะต้องประวิงเวลา ไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ผลการตรวจจะออกมาแล้วก็ตาม HR จะต้องรอให้แพทย์ผู้รักษาที่มีความเชี่ยวชาญแจ้งผลเสียก่อนดีกว่า เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหากับตัวเรา ถึงแม้ว่าฝ่าย HR จะใช้คำพูดอีกลักษณะหนึ่งก็ตาม เช่น คุณอาจจะต้องไม่พบแพทย์ที่คุณไปทำการตรวจเลือด เพื่อให้แพทย์เป็นผู้แจ้งผลเอง ลักษณะนี้ก็จะทำให้ผู้สมัครดังกล่าวเกิดความรู้สึกที่คิดมากแล้ว ถึงแม้ว่าฝ่าย HR จะไม่เข้าข่ายความผิดก็ตาม แต่จะทำให้ผู้สมัครที่เกิดการติดเชื้อจริงๆ คิดมาก และอาจจะตัดสินใจทำร้ายตัวเองก็ได้

ทักษะและประสบการณ์ของหน่วยงาน HR ก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะการแจ้งผลการตรวจโรค ซึ่งถ้ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เช่นตัวอย่างที่ยกมา จะเกิดปัญหากับองค์กรที่เป็นต้นสังกัดอย่างแน่นอน ใช่ว่าบริษัทจะพ้นผิด ฉะนั้นบริษัทควรจะต้องให้ความสำคัญ ในการแจ้งผลต่อผู้สมัครอย่างมีขั้นตอน และมีความเป็นมืออาชีพ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามตัวอย่างที่ได้ยกมา

 

ผู้เขียน   ดร.กฤติน   กุลเพ็ง      ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน เป็นอาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน