ความเป็นมืออาชีพ ของเจ้าหน้าที่สรรหา

 

ในยุคปัจจุบัน การสรรหาและคัดเลือกพนักงานเข้าสู่องค์กร  เป็นงานที่ท้าทายของฝ่าย HR เป็นอย่างมาก  เพราะว่าแทบทุกบริษัทประสบปัญหาการรับพนักงานเข้ามาเติมเต็ม  ในตำแหน่งงานที่ยังขาดอยู่  ซึ่งหามาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว  ก็ยังไม่มีพนักงานที่สนใจและถูกใจที่จะมาสวมตำแหน่งที่บริษัทต้องการได้  ประกอบกับพนักงานในองค์กรเอง ก็ลาออกอยู่เรื่อยๆ  จนกระทั่งเป็นการขาดพนักงานสะสมเป็นจำนวนมาก   ผู้บริหารจึงพยายามแก้ปัญหาที่สามารถแก้ไขและปรับได้ง่ายก่อน  โดยการปรับสวัสดิการ  ค่าจ้างของบริษัท  ให้สูงขึ้น  เพื่อเป็นการดึงดูดพนักงานที่สนใจ  ให้เข้ามาสู่องค์กรมากขึ้น   แต่การปรับลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาในบริษัท  เพราะว่าเมื่อมีการปรับพนักงานที่เข้าใหม่  ลืมไปว่าพนักงานเก่าที่อยู่กับองค์กรมานาน  ก็ต้องคำนึงด้วย  ไม่เช่นนั้น  บริษัทก็ต้องสูญเสียพนักงานที่อยู่กับองค์กรมานาน  ไปอย่างโดยไม่ได้ตั้งใจ

ความเป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่สรรหา  ของบริษัทต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวที่จะตามมาถึงบริษัทด้วย  การนำเสนอผู้บริหาร โดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงประเด็น  น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์บริษัทได้ชัดเจนกว่า  เพราะอย่าลืมว่าการที่จะดึงดูดพนักงานเข้ามาสู่องค์กรไม่ใช่  การปรับเงินเดือน  และสวัสดิการเท่านั้น  มีองค์กรประกอบอีกหลายอย่าง  ที่จะทำให้ผู้สมัครได้ตัดสินใจเดินเข้าสู่องค์กร  เช่น  ภาพลักษณ์ของบริษัท   สถานที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน เดินทางมาปฏิบัติงานสะดวกหรือไม่   วันหยุดไปตอบโจทย์ให้กับคนรุ่นใหม่คือเสาร์ อาทิตย์  และเวลาปฏิบัติงานต้องเป็นมาตรฐานสากล เข้า  8.00-17.00  น.  เป็นต้น

เจ้าหน้าที่สรรหาต้องทำหน้าที่ค้นหาความจริงที่แท้จริงว่า  ผู้สมัครที่เข้ามาสู่องค์กรของตนเอง ชอบในลักษณะใด  ก็ควรจะปรับให้ตรงจุด  ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวทางให้ เจ้าหน้าที่สรรหาได้มีแนวทางไป สำรวจข้อเท็จจริงของบริษัทว่า  สิ่งที่ได้ปฏิบัติอยู่นั้น  เป็นสิ่งที่กระทำได้ถูกต้องตรงประเด็นหรือไม่

  1. สำรวจหาช่องทางการสมัครงานของผู้สมัคร ว่าเขานิยมชมชอบในลักษณะใดมากที่สุด โดยการสอบถามจากผู้สมัครแต่ละคน เพื่อเก็บข้อมูล แล้วหาข้อสรุป นำเสนอผู้บริหาร เพื่อทำการปรับช่องทางดังกล่าวให้มีความเหมาะสม สะดวกในการเข้าถึงให้มากขึ้น เช่น  การปรับช่องทางการส่งเอกสารการรับสมัครงาน โดยการส่งผ่านทาง mail ได้  โดยไม่ต้องใช้  Hard copy
  2. การสร้างแรงดึงดูดผู้สมัครให้เข้ามาสู่องค์กรได้มากที่สุด โดยการปรับในส่วนที่ผู้สมัครเล็งเห็นความสำคัญและใช้ประโยชน์ได้ง่าย  เช่น  การปรับแพ็คเกจค่าจ้างและสวัสดิการให้เกิดแรงดึงดูด  โดยการให้พนักงานได้เลือกได้หลากหลาย    การวางระบบการปฏิบัติงานบางตำแหน่งให้ปฏิบัติงานอยู่ที่บ้านได้  โดยกำหนดเป้าหมายของงานให้เกิดความชัดเจน  การเดินทางเข้ามาปฏิบัติงานให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับลักษณะงาน  ไม่ต้องจำกัดเวลาจนเกินไป
  3. การพัฒนาระบบการรับสมัครพนักงาน ให้มีความทันสมัย  โดยการสมัครผ่านระบบ อินเตอร์เนท   การสัมภาษณ์ผ่านทาง เวปแคม   เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้สมัครได้มีทางเลือกได้มากขึ้น  กรณีที่ผู้สมัครได้มีการสมัครงานผ่านทางทาง อินเตอร์เนท  ควรจะต้องมีระบบตอบรับข้อมูล  เพื่อให้ผู้สมัครเกิดความรู้สึกว่าบริษัทได้รับข้อมูลแล้ว  ไม่ใช่เงียบหาย  ไม่มีการตอบรับข้อมูลใดๆ    ทำให้ผู้สมัครเกิดความไม่มั่นใจในบริษัท
  4. การติดต่อผู้สมัคร ควรใช้ภาษาที่มีความเป็นมืออาชีพ  ไม่ใช่นึกอยากจะพูดอะไรก็เขียนตอบกลับไป  โดยไม่คำนึงถือภาพลักษณ์ของบริษัท  เช่น การติดต่อผู้สมัครในยามวิกาล หรือ การโทรศัพท์ติดต่อในลักษณะเชิงชู้สาว
  5. การแจ้งข้อมูลกลับกรณีที่มีการสัมภาษณ์ผู้สมัคร โดยส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่สรรหามักจะเลือกแจ้งแต่ผู้สมัครที่มีการสัมภาษณ์แล้วเท่านั้น  แต่ผู้สมัครที่เข้ามาสัมภาษณ์แล้วไม่ผ่านการสัมภาษณ์  ถูกละเลยไปไม่ได้แจ้งให้ทราบ  ทำให้ผู้สมัครที่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์เสียส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อองค์กรได้

 

จากสิ่งที่ผู้เขียนได้สรุปหัวข้อที่เป็นภาคปฏิบัติ  ของเจ้าหน้าที่สรรหาพนักงาน  ว่าควรจะปรับพฤติกรรมการทำงานเสียใหม่  ให้เกิดความเป็นมืออาชีพ ทั้งในการทำงาน  การติดต่อสื่อสาร   การให้ข้อมูล   การพัฒนาระบบการทำงาน  สิ่งต่างๆเหล่านี้  จะมีส่วนช่วยให้ผู้สมัครมีความมั่นใจ และเลือกที่จะเข้ามาปฏิบัติงานและมีส่วนร่วมกับองค์กรของเรา  เพราะว่าคนรุ่นใหม่มองว่า การทำงานให้กับองค์กรใดก็ตาม  ต้องคำนึงถึงว่า เขาจะต้องมีความรู้กลับไปด้วย  ไม่ใช่แต่การทำงานเพื่อได้ผลตอบแทนเพียงแต่การับเงินเดือน สวัสดิการเท่านั้น