การทำงานในองค์การต่างๆ คงหนีไม่พ้นเรื่อง ปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว ทั้งสองสิ่งนี้ เมื่อเราเอ่ยถึง ก็มักจะผลกระทบต่อการทำงานเสมอ ถึงแม้ว่าจะมีผู้บริหารบางท่านบอกว่า เรื่องส่วนตัวไม่ควรจะนำมาเกี่ยวข้องกับงาน ควรจะแยกออกจากกัน แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว พนักงานที่ปฏิบัติงานก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย ดังตัวอย่างที่ผมจะขอยกตัวอย่าง ที่เกิดขึ้นจริงในองค์การหนึ่ง ดังต่อไปนี้
“ นาง สมพร (นามสมมุติ) เป็นพนักงาน ของบริษัทแห่งหนึ่ง มีอายุการทำงานประมาณ 5 ปี อายุตัว 35 ปี ได้ปฏิบัติงานตำแหน่ง เจ้าหน้าที่การเงิน นางสมพรผลการปฏิบัติงาน ย้อนหลังไปประมาณ 3 ปี ผลงานอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีประวัติ การมาทำงานสาย ลากิจ ยกเว้นมีการลาคลอด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 2 เมื่อเวลาผ่านไป บุตรคนที่ 2 อายุประมาณ 2 ขวบเศษ และคนแรกอายุประมาณ 4 ขวบ นางสมพรได้ถูกการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรจาก ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน เป็นจำนวนถึง 7 ครั้งภายในเดือนนั้น ซึ่งตามระเบียบบริษัท ถ้ามาสายอีก 1 ครั้งภายในเดือนเดียวกัน จะถูกให้ออกจากการเป็นพนักงาน ในวันดังกล่าว ผู้จัดการสายงานได้ถือเอกสารการตักเตือนมาหาผมที่ห้องทำงาน โดยบอกว่า ทางหน่วยงานจะไม่เอาไว้แล้ว สำหรับพนักงานท่านนี้ เพราะมาสายในเดือนนี้เป็นจำนวนมาก และเป็นไปตามหลักเกณฑ์บริษัทด้วย จึงขอให้ทางฝ่ายบุคคลได้ดำเนินการตามระเบียบบริษัทได้เลย และช่วยหาคนใหม่มาทดแทนให้ทางหน่วยงานด้วย ผมได้ให้ทางเจ้าหน้าที่บุคคล ได้นำแฟ้มประวัติของ นางสมพร มาพิจารณาดูว่า ภูมิหลังของพนักงานเป็นอย่างไร ซึ่งผมเห็นประวัติ ว่ามีบุตรอยู่ 2 คน บ้านที่พักอาศัยอยู่บริเวณชุมชนห่างจากบริษัทไม่ถึง 10 กม. ซึ่งดูตามระยะทางแล้วไม่น่าจะมาทำงานสาย ถึงขนาดนี้ ผมได้วิเคราะห์ให้ทาง ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ทราบว่า น่าจะมีประเด็นอะไรแอบแฝงหรือไม่ ผมก็ได้ถามกลับไปว่า คุณคุยกับน้องหรือยัง ถึงสาเหตุของการมาปฏิบัติงานสายในเดือนนี้ และถ้าเป็นเหตุที่ต้องการความช่วยเหลือ หัวหน้าสามารถที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ ผมอยากให้ช่วยไปสอบถามหาสาเหตุกับน้อง ที่มีพฤติกรรมในลักษณะนี้ก่อนว่าเป็นเพราะเหตุใดกันแน่ แล้วค่อยนำมาสรุปผลหาทางออกในวันรุ่งขึ้นจะดีกว่าครับ
ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้เดินออกจากห้องของผมไปประมาณสัก 3 ชั่วโมงได้ ได้ต่อโทรศัพท์เข้ามาหาผมที่มือถือ บอกว่า สิ่งที่ผมได้ประเมินไว้ เป็นอย่างที่ได้ให้คำแนะนำไว้จริงๆ เลย ตอนนี้กำลังนั่งคุยกับน้องเขาอยู่ เหตุผลที่น้องมาสายนั้น เป็นเพราะว่า น้องตื่นเช้ามาต้องรีบทำกับข้าวให้บุตรทั้งสองทานก่อนที่จะนำ บุตรคนสุดท้องไปฝากไว้กับเพื่อนข้างๆบ้านเลี้ยงดู หลังจากนั้นก็พาบุตรคนโต ไปยังโรงเรียนอนุบาล ในตัวเมือง ซึ่งห่างจากบ้านประมาณ 4 กม. จากนั้นก็ขับรถมาทำงานที่บริษัท บางวันบุตรคนเล็กป่วยบ้าง ก็จะต้องป้อนยาก่อนแล้วถึงจะนำมาฝากไว้กับเพื่อนๆ ข้างบ้านดูแลให้ ส่วนการมาทำงานสายในช่วงเดือนนี้ถึง 7 ครั้งเพราะว่าบุตรคนเล็กเป็นไข้หวัด ก็ต้องพาไปหาหมอก่อนด้วย สำหรับสามีก็ไม่ได้กลับบ้านมาดูแล ภรรยาและบุตร เป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้ว ได้แต่โทรมาเป็นครั้งคราว ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินได้ฟังลูกน้องเล่าถึงสาเหตุการมาสายให้ฟังทั้งน้ำตาในลักษณะนั้น จนทำให้ตัวเองอดกลั้นไม่ไหวต้องร้องไห้ตามลูกน้องไปด้วย สาเหตุที่ร้องก็เพราะว่าเกือบจะลงโทษพนักงานซึ่งเป็นลูกน้องของตัวเองที่กำลังมีความลำบากอยู่ โดยให้เขาออกจากงานไปแล้ว บุตรทั้งสองคนรวมทั้งแม่ด้วย จะมีชีวิตอยู่อย่างไรกัน ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินได้กล่าวกับผมด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยสู้ดีเท่าไรนัก และขออนุญาตจะหาทางช่วยเหลือน้องในเรื่องเวลาการมาปฏิบัติงานของน้องการเงินคนนี้
เมื่อผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้ทราบถึงสาเหตุ เบื้องลึกในลักษณะนี้แล้ว ก็เริ่มถึงบางอ้อ ว่าลูกน้องของตัวเองได้รับความลำบาก แต่ตัวหัวหน้าเองไม่ได้สอบถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของเขาเลย ได้แต่ใช้งานอย่างเดียว ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินท่านนี้ได้ ตัดสินใจในเบื้องต้น รับปากกับน้องที่มีปัญหาว่า จะนำเรื่องนี้ไปปรึกษา กับทางฝ่ายบุคคลเพื่อหาทางช่วยเหลือน้องให้ผ่านวิกฤติในช่วงนี้ไปก่อน หลังจากได้คุยกับน้องเสร็จแล้ว ก็ได้นำข้อมูลการจัดตารางขึ้นเวรของน้องในสายงานทั้งหมด ขึ้นมาที่ห้องของผม เพื่อหารือเรื่องการจัดเวรให้น้องท่านนี้ โดยขอให้ขึ้นเวรเลื่อมเวลา การเข้างานจากเดิม 8.00 น.-17.00 น. มาเป็น 9.00 -18.00 น. ระยะเวลาภายใน 3 เดือนนี้ก่อน แล้วค่อยมาติดตามผลหลังจาก 3 เดือนไปแล้วว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะแก้ปัญหาให้น้อง ที่ประสบปัญหาครอบครัวอยู่ขณะนี้ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมขององค์การด้วย เมื่อได้ข้อสรุปเช่นนี้แล้ว ก็ได้เรียก นางสมพร ที่เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน มาทำการตกลงและรับทราบการจัดเวรและการปฏิบัติตัวในการทำงานใหม่ สำหรับความผิดที่กระทำมาแล้วก็ยังคงดำเนินการบันทึกไว้เป็นข้อมูล ซึ่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ก็ได้ให้กำลังใจให้น้องสู้ต่อไป เพื่อบุตรทั้งสองคนและตั้งใจในการทำงาน ตามที่ผู้บริหารได้ให้ความกรุณาช่วยเหลือ และถ้ามีอะไรที่ต้องการจะให้ความช่วยเหลือก็อยากให้มาบอกกับพี่ได้เลยอย่าเก็บเอาไว้ นางสมพรก็กล่าวขอบคุณ ผู้จัดการที่ได้ให้ความกรุณา และรับปากว่าจะตั้งใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่โดยจะไม่ให้มีปัญหาเรื่องงานอีกต่อไป
การติดตามผลในช่วงหนึ่งเดือนผ่านมา ผลการมาปฏิบัติงานจากระบบ Timesheet ของ นางสมพร เจ้าหน้าที่การเงินท่านนี้ ไม่มีสภาพการลาอีกเลย จากที่ได้สอบถามจากผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน ก็ได้รับข้อมูลว่า น้องตั้งใจในการปฏิบัติงาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ยินดีรับอาสาช่วยเหลือหน่วยงานและเพื่อนๆ มาตลอดโดยไม่ต้องร้องขอ วันใดที่มีกิจกรรมของบริษัท นางสมพรจะเป็นผู้อาสารับเป็นคนแรกที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในงานบริษัท ทุกครั้ง”
จากตัวอย่าง ความเอาใจใส่ดูแลของหัวหน้า ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดีต่อองค์การ เกิดความมั่นใจที่จะฝากชีวิตไว้กับองค์การนี้ได้ ซึ่งบทบาทลักษณะนี้ จะต้องถูกปลูกฝังมาจากผู้บริหารระดับสูงลงมา เพื่อถ่ายทอดนโยบายให้ผู้บริหารระดับรองลงมายึดถือปฏิบัติ จึงมีคำพูดที่ว่า ถ้าพนักงานพูดถึงองค์การไม่ดี ให้กลับไปดูที่ ผู้บริหาร ความผูกพันของพนักงานจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความศรัทธาก่อน ซึ่งในลักษณะนี้จะเป็นพื้นฐานก่อให้เกิด ความผูกพันของพนักงานต่อองค์การ (Employee Engagement) เราจะทราบได้อย่างไรว่าพนักงานที่เกิดความผูกพันต่อองค์การจะมีพฤติกรรมการแสดงออกอย่างไรบ้าง ซึ่งจะพอสรุปตามแผนภูมิ ด้านล่าง
การที่จะตรวจสอบว่าพนักงานมีพฤติกรรมการแสดงออก 3 ประการที่บ่งบอกว่าพนักงานเกิดความผูกพันต่อองค์การ กล่าวคือ
1.การคงอยู่ของพนักงาน
2.การพูดถึงองค์การในทางที่ดีพนักงานที่อยู่องค์การนานๆ เกิน 5 ปีขึ้นไปจะมีความรู้สึกที่ดีต่อองค์การ มีปัญหาเกี่ยวกับองค์การในทางที่ไม่ดี มักจะเข้าไปแก้ต่างให้กับองค์การมาโดยตลอด และมักจะพูดถึงองค์การของเขาให้คนอื่นฟัง
3.การรับใช้องค์การพนักงานจะมีความภูมิใจที่มีส่วนช่วยให้องค์การประสบความสำเร็จ พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้องค์การที่ตนทำงานอยู่
มีคำพูดที่ว่าองค์การให้ความสำคัญกับ HR อย่างไร คนในองค์กรมักจะเป็นเช่นนั้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นคำพูดที่พอจะสรุปได้ว่า ผู้บริหารให้ความใส่ใจกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องคนอย่างไร หน่วยงานฝ่ายบุคคลที่เป็นผู้รับนโยบายมาปฏิบัติ ก็จะมีส่วนทำให้คนในองค์กรนั้นมีลักษณะ พฤติกรรม เหมือนหรือคล้ายกับนโยบายของผู้บริหารที่กำหนดลงมาเช่นนั้น หรือแม้กระทั่งมีการเขียนกลยุทธ์การบริหารคนเสียสวยหรู แต่เวลาปฏิบัติไม่ดำเนินการปฏิบัติตามสิ่งที่เขียนไว้ ก็จะมีผลด้วยเช่นกัน
ดร. กฤติน กุลเพ็ง
“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”