การสำรวจเกี่ยวกับความเครียด และผลกระทบของความเครียดที่มีผลต่อการทำงาน อดนึกถึงการโฆษณาที่ดังมากชิ้นหนึ่งที่บอกว่า “จน เครียด กินเหล้า”พนักงานของแต่ละองค์การเมื่อเจอสภาพปัญหา อย่างเช่น งานเยอะ เครียด ลาออก
จากผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังระดับโลก Accenture ได้สำรวจคนทำงานในอเมริกาและพบว่า ปัจจุบันภาระงานหรือ Workload ของพนักงานบริษัทต่างๆ เพิ่มมากขึ้นและจากการที่ภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น ก็นำไปสู่ความเครียดของพนักงานที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
Watson Wyatt เป็นบริษัทที่ปรึกษาอีกแห่งหนึ่ง ที่ได้สำรวจและชี้ให้เห็นว่า การที่ความเครียดจากการทำงานเพิ่มมากขึ้นนั้น ก็จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานลาออกมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็จะส่งผลต่อ องค์การ จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาทั้งสองแห่ง จะพบว่าองค์การและผู้บริหารยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องความเครียดของพนักงานในองค์การอย่างดีเท่าที่ควร
ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภาระงานของเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่ภาษาทางด้าน HR เขาเรียกว่า Work Intensification ทั้งนี้ก็เนื่องจากทุกองค์การ ต่างก็พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากทุกองค์การจัดให้มีการวางแผนกลยุทธ์ มีการวิเคราะห์ SWOT ทุกส่วนงาน เพื่อจะได้มาจัดทำแผน Action Plan ของแต่ละหน่วยงาน บางองค์การมีการจัดทำในรายละเอียดถึงรายบุคคล ให้ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อหาหนทางที่จะให้ได้งานมากขึ้น จากจำนวนคนบุคลากรที่เท่าเดิม ทำให้พนักงานแต่ละคนมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นจากในอดีต
จากภาระงานของพวกเราที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบที่มีต่อบุคลากรในองค์การนั้นกลับแตกต่างกัน จากผลการสำรวจของ Accenture พบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า การเพิ่มภาระงานนั้นก่อให้เกิดผลในทางลบแก่ตนเอง โดยทำให้เกิดความเครียดกับชีวิตของบุคลากรแต่ละคนเพิ่มขึ้น ในขณะที่หนึ่งในสี่ตอบว่าการมีภาระงานเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอันใดต่อชีวิตตนเอง และอีกหนึ่งในสี่มองว่า การมีภาระงานมากขึ้นกลับเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากผลจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นกลับทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นความคิดที่หลากหลายกันไป สำหรับในประเทศเราก็คงเป็นส่วนน้อยที่พนักงานในองค์การจะคิดในลักษณะนี้ ถ้าเราจะชักชวนให้พนักงานได้มีแนวคิดที่ดี ว่าความเครียด ก่อให้เกิดปัญญา ก็จะทำให้พนักงานสบายใจขึ้น
ผลการสำรวจ Watson ได้มีการสำรวจคนทำงานในอเมริกาเช่นเดียวกัน และพบว่า ความเครียดจากการทำงานนั้น เป็นสาเหตุ สำคัญที่ทำให้พนักงานลาออกจากงาน และสาเหตุที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้พนักงานเกิดความเครียดก็คือ เวลาหรือชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันองค์การธุรกิจต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลและการจัดการความเครียดนี้กันอย่างจริงจัง
แต่ถ้าจะไปเชื่อมโยงกับงานของ Accenture ก็อาจจะอนุโลมได้ว่า เมื่อภาระงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้พนักงานต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้งานแล้วเสร็จ ทำให้เกิดควมเครียดเพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่การลาออกของพนักงาน
การพัฒนาการของทางเทคโนโลยีนั้นน่าสนใจมากครับ ว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นทำให้เกิดความเครียดได้อย่างไร สาเหตุสำคัญนั้นเนื่องมาจาก เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น ก็ส่งผลให้เราสามารถติดต่อกันได้มากขึ้นทุกขณะ ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามตัวได้ง่ายและสะดวกขึ้น ท่านผู้อ่านลองนึกดูซิครับว่า ถ้าท่านกำลังพักร้อนอยู่ กับครอบครัวในต่างประเทศ แล้วอยู่ดีๆ เจ้านายก็โทรศัพท์ติดตามตัว เพื่อมอบหมายงานสำคัญให้ โดยจะต้องส่งมอบงานทางอีเมล ทั้งๆที่อารมณ์ช่วงนั้นกำลังมีความสุขกับครอบครัวอยู่พอดี ความเครียดก็จะตามมาเพราะท่านจะต้องหาเน็ตคาเฟ่ เพื่อทำงานตามที่เจ้านายสั่งมา
สำหรับในประเทศไทยเรา ความเครียดนั้นมาจากแหล่งใด ลองมาดูข้อมูลตามภาพด้านล่างดังนี้
stress source
ข้อมูลสาเหตุที่พนักงานเกิดความเครียดต้องลาออกจากงานมากที่สุด เพราะสาเหตุมาจาก
1.หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน
2.ความเจริญทางเทคโนโลยี
3.ตัวชี้วัด (KPI)
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านในฐานะลูกจ้างและลูกน้องคงเชื่อว่า ความเครียดนั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานและขวัญกำลังใจในการทำงาน แต่ดูเหมือนว่าคนที่ไม่เคยตระหนักถึงผลของความเครียด กับเป็นตัวผู้บริหารขององค์การ ทั้งๆ ที่ความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานลาออก และการลาออกของพนักงานที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานขององค์การ แต่เวลาถามผู้บริหาร อะไรคือสาเหตุสำคัญที่สุดห้าประการ ที่ทำให้พนักงานของตนลาออกนั้น ผู้บริหารกลับไม่ได้คิดถึงเรื่องของความเครียดเลย
เมื่อสอบถามต่อไปว่า เมื่อพนักงานเกิดความเครียดนั้น จะหันไปขอความช่วยเหลือหรือปรึกษากับใคร ปรากฏว่าส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท แต่พนักงานจำนวนมากที่จะนึกถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคล ขององค์การ ที่มีหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของพนักงาน แสดงว่านอกจากองค์การไม่ได้ให้ความสำคัญและสนใจต่อความเครียดของพนักงานแล้ว ฝ่ายทรัพยากรบุคคลยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับพนักงาน เมื่อพนักงานเกิดความเครียด ซึ่งในบางครั้งฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองก็ยังเอาตัวไม่รอดเหมือนกันก็เลยมีผลทำให้ เกิดความเครียดไปทั้งองค์การ ผู้บริหารระดับสูงและฝ่ายทรัพยากรบุคคล คงต้องหาข้อสรุปและมีความตระหนักถึงเรื่องนี้ ว่าองค์การจะมีมาตรการและวิธีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร โดยส่วนใหญ่พนักงานที่มีความทุกข์ใจจะหันหน้าไปพึ่งหัวหน้างาน ก็เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จะไปพึ่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็เป็นเพื่อนกันกับหัวหน้าอีก พนักงานก็เลยไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร
บทบาทของผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องวางตัวเป็นกลางระหว่างบริษัทและพนักงาน เมื่อพนักงานได้รับความเดือดร้อน จะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพนักงานเสียก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนว่า ตัวท่านเองได้ยืนอยู่เคียงข้างพนักงานพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา เมื่อได้รับความเดือดร้อน สร้างผลงานให้กับตัวเอง สักระยะหนึ่งพนักงานจะเกิดความศรัทธา และจะค่อยๆเข้าหาฝ่ายทรัพยากรบุคคลเอง ถึงกระนั้นก็ตาม ความเครียดก็เกิดได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว สำหรับผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล อยากจะเชิญชวนให้พนักงานและลูกจ้างที่เกิดความเครียด มาทำตัวเองให้ชีวิตนั้นเบาขึ้น โล่งขึ้น และสบายขึ้น เช่น
เก็บของที่ไม่ใช้
ลดงานที่เครียดๆ ลงบ้าง เช่น งานกลุ่มที่ต้องทำคนเดียว งานประชุมที่เอาจริงเอาจัง
เลือกไปงานที่สำคัญและควรจะไปเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย
อ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารให้น้อยลง โดยเฉพาะข่าวอาชญากรรมหรือข่าวเครียดๆ ที่ซ้ำกันทุกวัน
เลิกดูรายการทีวี ทีเครียดๆ
อย่ารับปากหรือสัญญาว่าจะทำอะไรให้ใครๆ ง่ายๆด้วยความเกรงใจเลย ต้องหัดปฏิเสธให้เป็น
อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงคนอื่นเลยทำได้ยากมาก จะทำให้เราจมปลักอยู่กับความผิดหวังในตัวคนอื่นและเกลียดชังสังคมรอบตัว พยายามรักคนอื่นและยอมรับเขาตามความเป็นจริง
ฝึกหัดไปไหนมาไหนคนเดียวเป็นเพื่อนตนเอง
ลดความบ้าเรียน
ถ้าจะรักใครสักคน อย่าหลงรักเขาทั้งหมดของชีวิตและอย่าเข้าไปก้าวก่ายชีวิตเขาด้วย จงคิดเพียงจะอยู่ข้างๆ เขาก็พอแล้ว การรักแบบนี้จะทำให้รักกันได้นานๆ
ลองแบ่งเวลาวันละ
ลองทำดูตามที่ได้แนะนำมา เราจะรู้สึกว่าชีวิตโล่งและเบามากขึ้น เหมือนใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ไม่คับ หรือรัดตรึง อึดอัด เวลาตัวเองเบาๆ ใจสบายๆ ความคล่องตัวจะมีมากขึ้นจนแปลกใจตัวเอง
ดร. กฤติน กุลเพ็ง
“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”