คำถามในลักษณะนี้มีอยู่ในองค์การทั่วไป แต่ถ้าเป็นองค์การที่ไม่มีกฎเกณฑ์อะไร ก็จะรับกลับเข้ามาทำงานใหม่ โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากผู้บริหารแต่อย่างใด สำหรับบริษัทเล็กๆ มีพนักงานไม่มาก หรือเป็นบริษัทที่เพิ่งเติบโตจากธุรกิจในครอบครัว ก็จะยังไม่มีผลต่อคนหมู่มากเท่าใดนัก แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะขอยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษา สำหรับองค์การที่มีพนักงานอยู่ในบริษัทมากๆ หรือมีบริษัทในเครืออีกหลายแห่ง จะมีผลกระทบตามมาค่อนข้างมาก กล่าวคือ สมมุติว่าถ้าเกิดกรณีพนักงาน 1 คนลาออกจากองค์การไป ไม่ว่าจะออกด้วย การเขียนใบลาออกอย่างถูกต้อง หรือ การขาดงาน 3 วันออกไป โดยไม่ทราบสาเหตุก็ตาม ทั้งสองกรณีนี้ เราในฐานะผู้บริหาร ถ้าพนักงานอยากจะกลับเข้ามาทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง จะรับกลับเข้าทำงานได้หรือไม่ ถ้าจะรับพนักงานในกรณีแรกกลับเข้าทำงานได้ ก็จะต้องมีคำตอบให้กับพนักงานกรณีที่สองได้ว่า เป็นเพราะอะไร พนักงานกรณีที่สองไม่สามารถเข้ามาทำงานได้เพราะอะไร
ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ตอบคำถามได้ไม่ได้ แต่ยังมีปัญหาตามมาอีกเช่นกัน คือ กรณีแรก พนักงานทะเลาะกับหัวหน้า เกิดความไม่พอใจกับกับหัวหน้าเป็นการส่วนตัวจึงได้เขียนใบลาออกไป แล้วผู้บริหารยินยอมให้รับกลับเข้ามาทำงานใหม่อีกแผนกหนึ่งในองค์การ ผลก็คือ ในอนาคตพนักงานที่ไม่ชอบพอกับหัวหน้าคนใดในบริษัท ก็จะมีพฤติกรรมเช่นนี้อีกเหมือนกัน ซึ่งทำให้องค์การแห่งนี้มีพนักงาน Turn over rate ค่อนข้างสูง แต่การลาออกของพนักงานแห่งนี้จะไม่สะท้อนเรื่องของการ Turn over เลย เพราะเป็นพนักงานคนเดิมที่ลาออกไป
องค์การใหญ่ ๆ ที่ได้มาตรฐาน ก็มักประสบปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน จึงต้องมีการวางแผน สร้างกฎเกณฑ์ในการรับคนเข้าทำงาน ในกรณีที่พนักงานลาออก ตามตัวอย่างที่ผู้เขียนยกตัวอย่างข้างต้น จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อที่จะไม่ให้กระทบต่อพนักงานเก่าที่ทำงานอยู่ และไม่ให้เกิดความขัดแย้งในองค์การ ที่มีการลาออกไปแล้วมีปัญหากับหัวหน้างาน
ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ และเป็นการกระตุ้นเตือนพนักงานที่จะลาออกได้เกิดแง่คิดว่า ก่อนจะลาออกจากงานจะต้องคิดให้รอบคอบก่อน ที่จะตัดสินใจ เขียนใบลาออกจากงานไป
ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล จะต้องออกแนวปฏิบัติกรณีพนักงานลาออกจากองค์การ และกลับเข้ามาใหม่ จะต้องมีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1. จะต้องเป็นพนักงานที่ลาออกได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของบริษัท เช่น เขียนใบลาออกอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ออกจากงานเพราะถูกให้ออก โดยการ ขาดงาน กระทำผิดซ้ำคำเตือนต้องถูกให้ออกจากงาน ศาลสั่งจำคุก เป็นต้น ถ้าเป็นในลักษณะนี้ บริษัทจะไม่รับกลับเข้ามาในองค์การไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
2. พนักงานที่ลาออกไปแล้ว ต้องมีระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่เขียนใบลาออกจากบริษัท (ในส่วนนี้แล้วต่อองค์การจะกำหนด)
3. อัตราเงินเดือนที่ พนักงานได้รับ จะเป็นอัตราเงินเดือนเดิม ก่อนที่จะลาออกจากการเป็นพนักงาน และดำรงตำแหน่งไม่สูงกว่าตำแหน่งเดิมก่อนลาออกด้วยเช่นกัน
4.การรับพนักงานกลับเข้าบริษัท ที่นอกเหนือจาก 3 หัวข้อข้างต้น จะต้องได้รับการอนุมัติจาก กรรมการผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจสูงสุดขององค์การ เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นรายๆ ไป
ถ้าองค์การมีการวางหลักเกณฑ์ ในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้พนักงานที่คิดจะลาออกจากองค์การ จะต้องคิดให้รอบคอบก่อนเขียนใบลาออก เพราะบริษัทได้ว่ามาตรการไว้ชัดเจน สำหรับพนักงานบางส่วนที่คิดไว้ว่า ถ้าไม่พอใจหัวหน้าแผนกไหนแล้ว ก็ลาออกไป เดี๋ยวอีก1 อาทิตย์ ก็ค่อยมาเขียนใบสมัครเข้าอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็จะเริ่มหายไป การ Turn over rate ของพนักงานก็จะน้อยลงไปด้วยอีกเช่นกัน