หลายองค์กรเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องรับคนพิการเข้ามาทำงาน เพื่อที่จะต้องการได้รับสิทธิ์การลดหย่อน โดยไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการ ตามกฎหมายที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2555 นี้ ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้ กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ เพียงแต่ขอความร่วมมือไปยังบริษัทต่างๆ ให้บริจาคเงินสบทบเข้ากองทุนคนพิการ พอมาในปัจจุบันบริษัท ห้างร้านที่ไม่รับคนพิการต้องการจ่ายเงินให้กับกองทุนพัฒนาคนพิการ เป็นตัวเงิน และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ ซึ่งผู้เขียนขอบรรยายลงในรายละเอียดของ พ.ร.บ.คนพิการที่ได้ประกาศใช้ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อบริษัท ที่จะได้ตัดสินใจเลือกว่าจะจ่ายเงิน หรือรับคนพิการดี ขึ้นอยู่กับผู้บริหารองค์กรที่จะตัดสินใจ ดังต่อไปนี้
สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานคนพิการ
1. ค่าจ้างคนพิการเข้าทำงาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการเข้าทำงาน มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว แต่เดิมค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างคนพิการ นายจ้างสามารถนำค่าจ้างนั้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงเท่านั้น เช่นค่าจ้างคนพิการปีละ 120,000 บาทก็นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ 120,000 บาทไม่ต่างจากลูกจ้างทั่วไปแต่อย่างใดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างจ้างแรงงานคนพิการ กำหนดว่า“ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงานสำหรับเงินได้ เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว” นั่นหมายความว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ถึง 2 เท่าของที่จ่ายเป็นค่าจ้างคนพิการในกรณีนี้ค่าจ้างที่จ่ายจริงคือ 120,000 บาทสามารถถือเป็นรายจ่ายได้ถึง 240,000บาท ทั้ง ๆ ที่จ่ายค่าจ้างคนพิการเพียง 120,000 บาทเท่านั้นผลที่ตามมาเท่ากับรัฐบาลได้ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานคนพิการในรูปของประโยชน์ทางภาษีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเสียภาษีอัตราเท่าใดก็ได้รับประโยชน์เท่ากับร้อยละของอัตราภาษีนั้นโดยทั่วไปห้างหุ้นส่วนบริษัทเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ย่อมหมายความว่ารัฐบาลได้ช่วยออกค่าจ้างในรูปภาษีร้อยละ 30 คิดเป็นจำนวนเงิน 120,000 * 30/100 = 36,000 บาทแสดงว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ่ายจริงเพียง 84,000 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะการจ้างคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น
2. รายจ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการแก่ลูกจ้าง
ที่เป็นคนพิการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการดังกล่าวแก่ลูกจ้างที่เป็นคนพิการ โดยทั่วไปรายจ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการในการจ้างงานเช่นอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคารสถานที่ยานพาหนะบริการขนส่งหรือบริการสาธารณะ นายจ้างสามารถนำค่าจ้างนั้นมาหักเป็นค่าเสื่อมราคาหรือค่าใช้จ่ายได้แล้วแต่กรณี ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบเสียค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างเป็นเงิน 100,000 บาทย่อมสามารถหักเป็นค่าเสื่อมราคาหรือถือเป็นรายจ่ายได้ 100,000 บาทอยู่แล้วตามปกติ แต่เพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานพิการ กำหนดว่า “ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่เจ้าของอาคารสถานที่ยานพาหนะบริการขนส่งหรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่นซึ่งได้จัดอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคารสถานที่ยานพาหนะบริการขนส่งหรือบริการสาธารณะอื่นให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการดังกล่าว” นั่นหมายความว่ารัฐบาล ได้ช่วยออกค่าใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้างพิการในรูปของประโยชน์ทางภาษี นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเสียภาษีอัตราเท่าใดก็ได้รับประโยชน์เท่ากับร้อยละของอัตราภาษีนั้น โดยทั่วไปห้างหุ้นส่วนบริษัทเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ย่อมหมายความว่ารัฐบาลได้ช่วยออกค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับลูกจ้างพิการในรูปภาษีร้อยละ 30 หากซึ่งนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการหรือเจ้าของอาคารสถานที่ยานพาหนะบริการขนส่งหรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น ได้เสียค่าใช้จ่ายสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างพิการหรือจัดให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาทรัฐบาลก็ช่วยออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยเป็นเงินจำนวน 100,000 × 30/100 = 30,000 บาทแสดงว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ่ายจริงเพียง 70,000 บาทเท่านั้น ค่าสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก 1 แสนบาทรัฐบาลช่วยจ่าย = 100,000 × 30/100= 30,000 บาท
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะได้รับก็ต่อเมื่อมีลูกจ้างที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเข้าทำงานเท่านั้น
3. มีลูกจ้างพิการมากกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างทั้งหมด พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดว่า “นายจ้างหรือ เจ้าของสถานประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใดมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้นทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด” ในกรณีนี้กรมสรรพากรต้องการให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้แก่กิจการซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงได้เสนอให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานคนพิการเกินกว่าร้อยละ 60 มีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนเพิ่มเติมอีกร้อยละหนึ่งร้อย ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีคงจะออกเป็นกฎหมายโดยเร็ววัน นั่นหมายความว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานคนพิการเกินกว่าร้อยละ 60 มีสิทธินำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายได้ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริงกรณีที่จ้างคนพิการ 100,000 บาท/ คน/ ปีก็มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 300,000 บาท/ คน/ ปี หากได้จ้างคนพิการเป็นจำนวนมากย่อมน่าเชื่อได้ว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นจะไม่มีกำไรทางภาษีที่ต้องไปเสียภาษีแต่อย่างใด
4. สิทธิประโยชน์อื่น พ.ร.บ.พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดว่า “ในกรณีที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐจะพิจารณาให้สัมปทานการส่งเสริมการลงทุนการประกาศเกียรติคุณสินเชื่อรางวัลเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดแก่นายจ้างหรือสถานประกอบการใดให้นำข้อมูลที่ได้ประกาศตามวรรคหนึ่งมาประกอบการพิจารณาด้วย” นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการได้รับจากการจ้างลูกจ้างพิการแล้วนั้น ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการอาจได้รับ ดังที่กล่าวข้างต้นปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ได้คัดเลือกนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานคนพิการไว้เกินกว่าระบบสัดส่วนการจ้างงานกำหนดให้ได้รับใบประกาศเกียรติคุณในวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปีโดยมีฯพณฯนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบประกาศเกียรติคุณดังกล่าว ปัจจุบันนี้พ.ก.อยู่ในระหว่างดำเนินการขอพระราชทานรางวัล “ยิ้มสู้” ให้แก่องค์กรเอกชนที่เชิดชูคุณค่าแห่งความเท่าเทียมกันของคนพิการซึ่งรวมถึงองค์กรเอกชนที่ได้จ้างงานคนพิการเป็นจำนวนมากและจัดสวัสดิการให้แก่คนพิการได้อยู่อย่างบุคคลทั่วไปด้วย
ภาษี = ( เงินได้ – ค่าใช้จ่าย ) x (อัตราภาษี / 100)
ตัวอย่างบริษัท ก. มีรายได้จากการขายสินค้าเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท มีลูกจ้าง 1,000 คนค่าแรงเฉลี่ย 1 แสนบาท /คน / ปีมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมกันเป็นเงิน 90 ล้านบาทบริษัท ก.เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 อยากทราบว่าบริษัทฯต้องจ้างแรงงานคนพิการกี่คนถ้าไม่จ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นจำนวนเงินเท่าใดหากจ้างแรงงานคนพิการบริษัท ก. จะได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีเท่าใด
จากตัวอย่างข้างต้นบริษัทฯมีเงินได้ 200 ล้านบาท – ค่าแรง 100 ล้านบาท – ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 90 ล้านบาท = มีกำไร 10 ล้านบาท เสียภาษี = 10 ล. *30/100 = 3 ล้านบาท
1. หากบริษัท ก. ไม่จ้างงานคนพิการ หากยึดตามมติคณะรัฐมนตรี นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต้องจ้างคนพิการในสัดส่วนลูกจ้างทั่วไป 100 คนต่อลูกจ้างคนพิการ 1 คน ถ้าไม่จ้างต้องจ่ายเงินสมบทเข้ากองทุนจำนวนเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำสุดของประเทศคูณด้วย 365 วันคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ต้องจ้างบริษัท ก. ต้องจ้างแรงงานคนพิการ = 1,000/100 = 10 คน หากบริษัทฯไม่จ้างคนพิการเข้าทำงาน ก็มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นจำนวนเงินเท่ากับ ค่าแรงขั้นต่ำที่สุดของประเทศ 159 บาทคูณ 365 วันคูณ 10 คน = 580,350 บาทนั่นหมายความว่าบริษัท ก. จะต้องเสียภาษี 3 ล้านบาทและต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน 580,350 บาทรวมเป็นเงินทั้งหมด 3,580,350 บาท (หมายเหตุขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการร่างกฎหมายกำหนดให้เงินที่จ่ายเข้ากองทุนได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีได้)
2. หากบริษัท ก. จ้างคนพิการ – ถ้าบริษัทฯจ้างคนพิการเข้าทำงาน 10 คนแทนการจ้างคนทั่วไป บริษัท ก. ยังมีคนงาน 1,000 คนแทนที่จะถือเป็นรายจ่าย 100 ล้านบาทก็สามารถถือเป็นรายจ่ายได้ถึง 101 ล้านบาท (คนพิการ 10 คนถือเป็นรายจ่ายเพิ่มได้อีกคนละ 1 แสนบาท)
ในทางภาษีทำให้บริษัท ก. มีกำไร = 200 ล้านบาท – 101 ล้านบาท – 90 ล้านบาท = 9 ล้านบาทคิดเป็นภาษีทีต้องเสียเท่ากับ 9 ล้านบาท * 30/100 = 2,700,000 บาท
3. เปรียบเทียบทั้งกรณี – เมื่อเปรียบเทียบกรณีที่บริษัท ก. ไม่จ้างคนพิการเข้าทำงานต้องเสียภาษีเต็มจำนวนและต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนถึง 580,350 บาทแต่ถ้าจ้างพิการเข้าทำงานจะทำให้เสียภาษีน้อยลงประมาณ 3 แสนบาทและไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเท่ากับบริษัท ก. ประหยัดเงินทั้งหมด 880,350 บาท
4. กรณีที่บริษัท ก. ไม่ต้องเสียภาษีเลย – หากบริษัท ก. จ้างคนพิการเข้าทำงานแทนคนทั่วไปเพียงแค่ 100 คนไม่ต้องถึงร้อยละ 60 ของลูกจ้างทั้งหมดบริษัท ก. ก็ไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด เนื่องจากการที่บริษัทสามารถนำเงินเดือนคนพิการมาเป็นรายจ่ายสองเท่า ทำให้บริษัทไม่มีกำไรทางภาษีมาคำนวณภาษี (หมายเหตุ หากบริษัท ก. ไม่ประสงค์จะจ่ายเงินเข้ากองทุนก็ต้องหาทางสร้างงานให้แก่คนพิการแทนการจ้างงานก็ได้ ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เช่น ให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการจัดจ้างเหมาช่วงงานฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลื่ออื่นใดแก่คนพิการแทนหรือผู้ดูแลคนพิการแทนก็ได้) นอกจากนั้นผู้ดูแลคนพิการซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อในบัตรประจำตัวคนพิการยังสามารถลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ดูแลคนพิการคนละหกหมื่นบาท หากคนพิการนั้นเป็นผู้สูงอายุก็สามารถลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นได้อีกสามหมื่นบาท
ปัจจุบันได้รับการตรวจพิจารณาร่างจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วดังนี้
1. ร่างกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการและมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทในปีภาษีนั้น ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นอัตราเดียวกันกับภาษีผู้สูงอายุซึ่งมีอายุหกสิบห้าปีขึ้นไปจะได้ไม่ซ้ำซ้อนกัน
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่จัดให้คนพิการได้รับสิทธิ (การแพทย์การศึกษาการมีงานทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกเทคโนโลยีสวัสดิการสังคมกิจกรรมโครงการบริการผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตการอำนวยความสะดวกต่างๆ ) เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายแต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนดังกล่าว โดยรวมในส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้างทั้งหมดและมีระยะเวลาจ้างเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยยกเว้นเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว( 3 เท่าของค่าจ้าง) รวมทั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมีมติเสนอกระทรวงการคลังให้การลดหย่อนภาษีในกรณีนายจ้างเลือกใช้วิธีการส่งเงินเข้ากองทุนเช่นเดียวกับการบริจาคเข้ากองทุนโดยสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เต็มจำนวนเมื่อผู้บริหารองค์กรได้รับทราบข้อมูล เรื่อง พ.ร.บ.คนพิการแล้ว ก็สามารถลองนำไปคำนวณรายได้ ค่าใช้จ่าย และภาษี ที่เกิดขึ้น ว่าสิ่งที่บริษัทจะต้องดำเนินการอย่างไร กับคนพิการ ที่จะมีขึ้นในอนาคต
สำหรับสิ่งที่ผู้บริหารต้องเผชิญอีกปัญหาหนึ่งก็คือ สำหรับพนักงานในองค์กรของท่านเองที่มีพนักงานบางคนที่เข้าข่ายคนพิการ แต่พนักงานไม่ต้องการที่จะเข้าไปแวดวงคนพิการ เหมือนว่า ตัวเองมีปมด้อย และความรู้สึกพนักงานก็ยังรับไม่ได้กับตัวเองที่จะต้องมีบัตรเป็นคนพิการของสมาคมคนพิการ โดยเฉพาะกรณีที่พนักงานประสบอุบัติเหตุในบริษัท จนทำให้ต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนไป และยังไม่ได้กับการที่เขาต้องเสีย แขน ขา ดวงตา ซึ่งบริษัทเองก็ต้องมีความเข้าใจในความรู้สึก ของพนักงานด้วยเช่นกัน
ผู้เขียน ดร.กฤติน กุลเพ็ง ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน เป็นอาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน