บางครั้งผู้บริหารมีความตั้งใจมุ่งงานเพียงอย่างเดียวเพื่อที่จะให้งานประสบความสำเร็จ ลืมนึกไปว่าลูกน้องที่ทำงานอยู่ ไม่มีใจในงานที่นายสั่งให้ทำแล้ว งานที่ทำอยู่นั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี ฉะนั้นหัวหน้างานและผู้บริหารจึงควรจะมีวิธีการสังเกต ลูกน้องของตนเองว่า พฤติกรรมอย่างไรบ้างที่พนักงานท่านนั้นไม่มีใจให้กับองค์การแล้ว
จากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่เคยสัมผัสกับพนักงานมาที่มีพฤติกรรมดังกล่าว จึงอยากจะขอแชร์ประสบการณ์ จากที่ผู้เขียน เคยปฏิบัติงานในโรงงานแห่งหนึ่ง ในเขตจังหวัดสระบุรี โดยงานที่รับผิดชอบ คือ งานด้านแรงงานสัมพันธ์และฝึกอบรม ซึ่งงานด้านนี้ส่วนใหญ่ก็จะมีพนักงานที่ไปร่วมงานฝึกอบรมจะเข้ามาหารือบ่อยๆ ถึงเรื่องปัญหาในงานในแผนก และวิธีการทำงาน เวลาส่วนใหญ่ที่พนักงานเข้ามาหารือมักจะเป็นในช่วงเย็นหลังจากได้มีการสังสรรค์กับในหมู่เพื่อน ซึ่งนั่งตั้งวงสนทนาและมักจะมีสุรา ยาดองร่วมไปด้วย พอได้ที่แล้ว ก็เริ่มออกรส ออกชาด พูดถึงเรื่อง เจ้านายที่อยู่โรงงานว่ามีพฤติกรรมเป็นอย่างไร ผมสังเกตเห็นได้ว่ามีพนักงานอยู่ท่านหนึ่งที่มีพฤติกรรม การพูดค่อนข้างรุนแรงและมีทัศนคติไม่ดีต่อผู้บังคับบัญชาอย่างมาก พอเวลาผ่านไปสักประมาณ 3 ชั่วโมง พนักงานท่านนั้นเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น เพราะพูดไปเริ่มไม่มีใครรับฟัง หลังจากนั้นพฤติกรรมเขาเปลี่ยนไปเป็นการร้องไห้ จนทำให้เพื่อนๆ ที่นั่งร่วมวงอยู่ด้วยกัน หยุดคุยถึงเรื่องอื่นในทันที หันมาให้ความสนใจถึง พนักงานชายดังกล่าวและรับฟังความเห็นของเขามากขึ้น พยายามช่วยกันปลอบใจ และสอบถามถึงความรู้สึกที่เขาได้รับและถูกกระทำว่ามีอย่างไรบ้าง จึงได้ทราบว่า พนักงานท่านนี้ ถูกเพื่อนร่วมงานในแผนกเดียวกัน กลั่นแกล้งและถูกผู้บังคับบัญชาระดับต้น จัดเวรให้ไปอยู่ในสถานที่ปฏิบัติงานลำบาก ให้อยู่แต่เวรดึก ไม่ได้รับโอกาสเหมือนพนักงานท่านอื่นเลย เพราะ
สาเหตุที่ว่า พนักงานท่านนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกขายตรงกับบริษัทหนึ่ง ที่หัวหน้าหมวดเป็นแม่ข่ายอยู่ ส่วนเพื่อนๆ ที่อยู่ในแผนกเป็นสมาชิกเกือบทุกคนแล้ว สำหรับพนักงานท่านนี้เข้างานได้ประมาณ 3 เดือนเศษๆ แต่ผลการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา ไม่เคยมีประวัติ การขาด ลา มาสายเลย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่หัวหน้าได้นำเสนอพนักงานท่านนี้ บรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ แต่ก็ถูกแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมรอบด้าน ที่จะทำให้เขาทำงานในองค์การแห่งนี้ไม่ได้
จากเหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้แชร์ประสบการณ์มาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า พนักงานใหม่ท่านนี้ ถูกวัฒนธรรมองค์การที่ปลูกฝังจากพนักงานเก่า และหัวหน้าระดับต้นที่มีพฤติกรรมไม่ดี นำมาปฏิบัติกับพนักงานที่ตั้งใจปฏิบัติงาน จนกระทั่งตัวพนักงานเองอยู่ในที่ทำงานไม่ได้ ซึ่งผมได้กลับมาจากสถานที่ฝึกอบรมในวันรุ่งขึ้น จึงได้เข้าไปขอประวัติพนักงานมาดู และได้เข้าไปหารือกับ ผู้จัดการแผนกที่รับผิดชอบในสายงานนี้ และเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด ได้ข้อมูลความจริงอีกหนึ่งอย่างคือ พนักงานท่านนี้จากที่ไม่เคยมีประวัติ การขาด ลา มาสายเลย ในช่วง 3 เดือน แต่ในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา พนักงานเริ่มมาสาย และลากลับก่อน จึงเป็นสัญญาณบ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่า พนักงานเริ่มจะเดินออกจากองค์การแล้ว
พฤติกรรมพนักงาน โดยทั่วๆไป ที่ผู้บริหารสามารถสังเกต ได้จากพนักงานที่ปฏิบัติงาน อยู่ 3 พฤติการณ์ คือ
พฤติกรรมที่สังเกตอันดับแรก คือ การมาปฏิบัติงานของพนักงาน เริ่มมาสาย ลากิจ และขาดงาน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่า พนักงานเริ่มไม่อยากทำงาน ไม่ใส่ใจในการทำงานแล้ว ซึ่งหัวหน้าที่อยู่ใกล้ชิดจะมักสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย แต่ถ้ามีหัวหน้าหมวด/งาน ที่พฤติกรรมไม่ดี ก็จะถูกลืมไปเลย พนักงานที่เจอในสภาพเช่นนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเดินจากไปจากองค์การไป โดยทิ้งความทรงจำที่ไม่ดีเอาไว้และยังไปบอกเล่าต่อถึงพฤติกรรมไม่ดีของบริษัทอีกด้วย
พฤติกรรมการแสดงออกที่สอง คือ การบ่นให้คนอื่นฟัง เมื่อพนักงานพึ่งหัวหน้าไม่ได้ ก็จะพยายามที่จะบอกเล่าให้คนอื่นที่อยู่นอกแผนกให้เขารับทราบ เพื่อต้องการให้ผู้จัดการสายงานอีกระดับหนึ่งได้รับรู้และเข้าใจถึงตัวเขา ถ้าเรื่องนี้ได้รับการตอบรับก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะหยุดพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้
พฤติการณ์การแสดงออกที่สาม คือ การออกหางานบริษัทใหม่ เมื่อพฤติกรรมพนักงานแสดงออกทั้ง สองอย่างแล้ว ยังไม่มีเสียงตอบรับจากผู้บริหาร พนักงานก็จะใช้วิธีการออกหางานใหม่
ฉะนั้นการแสดงออกของพฤติกรรมพนักงานที่ผู้บริหารระดับต้น ที่พอจะสังเกตได้เบื้องต้นนั้น มีอยู่ 3 พฤติกรรม ถ้าผู้บริหารจะหยุดการลาออกของพนักงานได้เป็นผลสำเร็จได้นั้นจะต้อง เข้าไปรับรู้และหาสาเหตุตั้งแต่ใน พฤติกรรมที่ 1 และ 2 โดยวิธีการพูดคุยกับพนักงานเพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และหาวิธีการแก้ไข เพื่อให้พนักงานเกิดความสบายใจว่า ผู้บริหารเหนืออีกระดับหนึ่งยังให้ความเป็นธรรมแก่เขา ก็จะทำให้หยุดการลาออกของพนักงาน เป็นผลสำเร็จได้ แต่ถ้าให้พนักงานได้มีพฤติกรรมที่ 3 แล้ว จะทำให้หยุดและดึงพนักงานกลับเข้าสู่องค์การได้ยากมาก
ดร. กฤติน กุลเพ็ง
“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”