องค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้เลือกทำหัวข้อใด หัวข้อหนึ่งแล้วจะประสบความสำเร็จ ผู้เขียนมองว่าควรต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลมาเป็นอย่างดีเสียก่อนว่า ชุดความคิด (Mindset) ต้นตอของทุกสิ่งทุกอย่างคือ ชุดความคิด หรือ Mindset ดังนั้นก่อนทำอะไร ๆ คิดให้ดี ๆ ว่าเครื่องมือหรือวิธีการต่าง ๆ ที่องค์กรจะนำมาใช้นั้น เหมาะกับชุดความคิด ค่านิยมหรือปรัชญาขององค์กรแล้วหรือยัง
องค์ประกอบที่จะให้องค์กรประสบความสำเร็จได้นั้น จะประกอบไปด้วย
- ชุดความคิด (Mindset) เป็นตัวนำทาง เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เป็นความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ถ้าพนักงานทุกคนมีความเชื่อว่า ความสามารถพัฒนาได้ แต่ต้องมีความพยายามลงมือกระทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนประกอบของคำว่า ชุดความคิด (Mindset) นั้นจะประกอบไปด้วย ทัศนคติและความเฉลียวฉลาด การที่จะกระทำสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีความเชื่อเสียก่อนว่า เราต้องทำได้ โดยลงมือกระทำอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาอุปสรรค ต้องไม่ย่อท้อ มุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จให้ได้ ฉะนั้นอีกส่วนประกอบหนึ่งก็คือ ความฉลาด เมื่อได้ลงมือกระทำไปแล้ว ต้องมีความฉลาดรอบรู้ด้วย จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้งานนั้นประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
ดร. แครอล เอส. ดเว็ค (Carol S. Dweck) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success เป็นคนที่ทำให้คำว่า Growth Mindset รู้จักในวงกว้าง โดยได้ทำวิจัยโดยสังเกตพฤติกรรมกลุ่มเด็กที่มี Growth Mindset และ Fixed Mindset โดยผลสรุปได้นิยามไว้ว่า กรอบความคิดแบบพัฒนาได้ หรือ Growth Mindset คือ ความเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้ด้วยความพยายาม ถึงแม้คนเราจะเกิดมาแตกต่างกันจากพรสวรรค์ ความถนัด ความสนใจ หรือนิสัยใจคอ แต่ทุกคนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความพยายามและประสบการณ์
ขณะที่กรอบความคิดแบบตายตัว หรือ Fixed Mindset คือ ความเชื่อว่าตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะหลีกเลี่ยงความท้าทาย ไม่ชอบความลำบาก ยอมแพ้ง่าย มองว่าความตั้งใจและความพยายามไม่มีค่า กระทั่งไม่ได้ใส่ใจคำแนะนำตักเตือนที่มีประโยชน์จากคนอื่น ความแตกต่างของกรอบความคิดจะส่งผลให้คนมีมุมมองต่อตนเองแตกต่างกัน ทั้งในด้านมุมมองต่อภาพลักษณ์ การใช้ความพยายาม การเรียนรู้ รวมถึงการปรับตัว
2. ชุดทักษะ ความรู้ (Skillset) องค์กรต้องเลือกใช้ ชุดทักษะ ความรู้ ความสามารถ ที่เหมาะสมกับองค์กร เพื่อไปตอบโจทย์ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ขั้นตอนของการดำเนินการควรกระทำเป็นขั้นตอน สิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว คือ ชุดความคิด (Mindset) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าองค์กรวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก เลือกชุดความคิดที่ถูกต้องเหมาะสมกับองค์กร แล้วจึงมาเลือกชุดทักษะ ความรู้ ให้สอดคล้อง เหมาะสมกับทิศทางองค์กร ก็จะทำให้เกิดความคล่องตัว องค์กรจะก้าวไปอย่างเป็นระบบ ไม่เกิดการติดขัด เพราะฟันเฟืองที่เราเลือกมานั้น เข้ากันได้พอดี ไม่มีปัญหา
3.ชุดเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคนิค (Toolset) การที่เราจะเลือกใช้ชุดเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคนิค ควรศึกษาก่อนว่า สิ่งที่เราเลือกนำมาใช้นั้น เหมาะสมกับชุดความคิด และชุดทักษะ ความรู้หรือไม่ องค์กรแห่งหนึ่งปรับปรุงการประเมินผลงานของพนักงานจากระบบ KPI (Key Performance Indicators) เป็น OKR (Objective & Key Results) แต่ปรากฎว่าผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังเหมือนเดิม หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ คนที่อยากลดน้ำหนักเปลี่ยนอุปกรณ์การออกกำลังกายหลายอย่างแล้วแต่น้ำหนักก็ยังไม่ลดลงสักที เป็นเพราะเหตุใดกันแน่ นี่คือคำตอบของทั้งหมดที่กล่าวมาครับว่า ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ล้มเหลวกันส่วนใหญ่ก็เพราะเรามักจะมองกันที่เครื่องมือเป็นตัวตั้ง แต่ลืมชุดความคิด ค่านิยมที่ถูกที่เหมาะสมว่าจะต้องเป็นอย่างไร ผู้บริหารองค์กร ผู้จัดการ หัวหน้างาน หรือหน่วยงาน HR ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับ “ชุดเครื่องมือ” มาเป็นอันดับแรก ทำให้กิจกรรมหรือโครงต่าง ๆ ที่นำมาใช้มักจะล้มเหลวหรือไม่ก็ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่คาดหวัง พอวิเคราะห์กันดี ๆ ก็จะพบว่าองค์กรหรือตัวเราเองมักจะแค่เปลี่ยนเฉพาะ “เครื่องมือ” แต่ชุดความคิด ความเชื่อยังเหมือนเดิม จึงทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย อย่างที่ไม่ควรจะเสีย
สิ่งที่ผู้เขียนพบเจอในบริษัทต่าง ๆ เวลาเข้าไปอบรมสัมมนาหรือเป็นที่ปรึกษา ให้กับองค์กรมักจะมีการร้องขอจากผู้เขียนให้ช่วยนำ “เครื่องมือ” อะไรสักอย่างหนึ่งมาเพื่อจะเอาไปแก้ไขปัญหาที่องค์กรที่ผู้บริหารประสบปัญหาอยู่ เหมือนกับมองว่าผู้เขียนเป็นผู้วิเศษที่สามารถเนรมิต เครื่องมือตามที่บริษัทต้องการได้ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ จึงอยากฝากแนวคิดในเรื่องนี้ เป็นอุทาหรณ์ ไว้ว่าองค์กรแต่ละแห่งมีที่มาแตกต่างกัน มีบริบทเกิดขึ้นไม่เหมือนกัน จะไปคัดลอกสิ่งที่องค์กรอื่นประสบความสำเร็จ แล้วนำมาปรับใช้ที่องค์กรของเรา ก็ไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้เช่นกัน สิ่งที่ผู้เขียน อยากจะฝากไว้เป็นข้อมูลให้กับผู้บริหารองค์กร ที่ต้องการความสำเร็จเร็ว โดยที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้เสียก่อน ก็จะทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และเสียความรู้สึกที่ดีของพนักงานไป
เมื่อผู้อ่านได้พอทราบเรื่องข้อมูล ที่พอจะนำพาให้องค์กรประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจต่อก็คือ การกำหนด ชุดทักษะ ความรู้ ความสามารถ ของแต่ละตำแหน่งงานเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทขององค์กร ซึ่งผู้เขียนจะขออธิบายในรายละเอียดในบทถัดไป