ความเข้าใจระหว่างลูกจ้างและนายจ้างยังมีความเข้าใจสับสนกันอยู่ว่า ในกรณีที่พนักงานเจ็บป่วยในงานไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น ทางกองทุนเงินทดแทนจะมีการจ่ายเงินเมื่อพนักงานได้หยุดงานเกิน  3  วัน ตามใบรับรองของแพทย์  ทางฝ่ายนายจ้างเองในบางองค์การก็อาจจะมีความเข้าใจสับสนอีกเช่นกัน ว่าในส่วนนี้ต้องเป็นของบริษัท เพราะว่าบริษัทได้จ่ายให้กับพนักงานไว้ทั้งหมดแล้ว  ในส่วนของพนักงานก็อาจจะมีความรู้สึกที่ไม่ดีอีกเช่นกันที่ตัวเองต้องไปรับเงินและต้องนำมาคืนให้กับบริษัท   ซึ่งผู้เขียนจะขอยกกรณีศึกษา สิ่งที่เกิดจริงในโรงงานแห่งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

  • พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งได้เกิดอุบัติเหตุในงาน โดยมีรายละเอียดของการเกิดดังนี้
  • พนักงานช่างซ่อมบำรุงได้ไปทำการซ่อมเครื่องจักรเครื่องหนึ่งในบริเวณโรงงาน
  • ดำเนินการซ่อมเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในช่วงทดสอบเครื่อง ขณะดังกล่าวสายพานเครื่องจักรได้หลุดออกมา จึงได้รีบใช้มือเปล่าพยายามใส่สายพานโดยไม่ได้หยุดเครื่อง
  • เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เมื่อกำลังใส่อยู่นั้น สายพานได้ฉุดนิ้วมือของช่างซ่อมเข้าไปด้วย
  • จึงทำให้ปลายนิ้วชี้ถูกเครื่องจักรหนีบขาด ไปประมาณ 1 ข้อ เพื่อนช่างซ่อมด้วยกันรีบนำส่งโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อทำการรักษาผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
  • เรื่องนี้ทราบถึง ผู้บริหาร จึงได้ให้ทางหัวหน้างานตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท จึงอยากถามว่า เราในฐานะผู้บริหาร
  • พนักงานมีสิทธิในสวัสดิการของพนักงานได้หรือไม่ เช่น ลาป่วย และสวัสดิการ
  • การรักษาพยาบาลในส่วนนี้จะเข้าข่ายกองทุนอะไร
  • เงินรายได้เนื่องจากการหยุดงานใครจะเป็นผู้ได้รับ

จากกรณีศึกษาตามโจทย์ มีพนักงานซ่อมบำรุงได้ไปซ่อมเครื่องจักร แต่ก่อนเสร็จสิ้นมีสายพานหลุด จึงได้ใช้มือเปล่าใส่สายพานแต่พลาด ถูกเครื่องจักรหนีบบริเวณนิ้วชี้ขาดประมาณหนึ่งข้อ  ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพนักงานเข้าข่ายการเจ็บป่วยในงานอย่างแน่นอน

คำถามแรก พนักงานมีสิทธิในสวัสดิการเรื่องการรักษาพยาบาลหรือไม่  ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พนักงานสามารถ ลาป่วยตามที่ป่วยจริงแต่ได้รับค่าจ้าง   30  วัน นี่คือตามกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติ ข้อบังคับของแต่ละแห่งอาจจะไม่เหมือนกัน บางบริษัทอาจจะให้มากกว่ากฎหมายก็ได้ เช่น ลาป่วยตามที่จ่ายจริงแต่ได้รับค่าจ้าง 60 วัน เป็นต้น ฉะนั้นจึงสามารถตอบคำถามได้ว่า สามารถลาป่วยได้ตามข้อบังคับของแต่ละบริษัทแต่ต้องไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้  สำหรับค่ารักพยาบาลก็สามารถเบิกได้ตามระเบียบบริษัท โดยใช้กองทุนเงินทดแทน

พอมาถึงเรื่องรายได้เนื่องจากการหยุดงานของพนักงาน ถ้าเราตีความตามกฎหมาย พนักงานลาป่วยตามที่ป่วยจริงแต่ได้รับค่าจ้าง  30  วัน ฉะนั้นพนักงานมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยการหยุดงานตั้งแต่วันที่เข้ารับการรักษาพยาบาลวันแรกจนถึงวันสุดท้ายตามที่ใบรับรองแพทย์ระบุไว้  ถ้ากรณีศึกษาตามโจทย์ บางบริษัทได้จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานเกินกฎหมายคือจ่ายมากว่า 30  วัน และกรณีนี้ก็เข้าข่ายเช่นกัน พนักงานได้รับเงินส่วนหนึ่งจากกองทุนเงินทดแทน 60 % และอีกส่วนหนึ่งได้รับจากบริษัท 100 % อีกด้วย  คำถามที่เกิดขึ้นพนักงานจะมีสิทธิ์ได้รับทั้งหมด 160 % เลยหรือไม่ ถ้าบริษัทอ้างสิทธิ์ว่าเงินที่กองทุนเงินทดแทนจ่ายให้กับพนักงานต้องคืนบริษัท   สำหรับกรณีนี้ ผู้เขียนได้สอบถามผู้รู้และรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงและได้คำตอบว่า ถ้าบริษัทได้จ่ายเงินค่าจ้างให้เต็ม 100 % แล้ว เงินส่วนที่ได้รับจากกองทุนเงินทดแทน 60 %  ก็สามารถอ้างสิทธิ์เป็นของบริษัทได้ แต่ต้องชี้แจงพนักงานให้เข้าใจถึงเรื่องนี้เสียก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรจึงจะต้องคืนบริษัท  แต่โดยทั่วไปบริษัทที่ให้สวัสดิการที่ดีกว่ากฎหมายมักจะยกผลประโยชน์เงินจากกองทุนเงินทดแทนส่วนนี้ ให้แก่พนักงาน เพราะว่าเขาได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับบริษัท จนกระทั่งตัวพนักงานเองต้องได้รับอุบัติเหตุจนถึงขั้นหยุดงาน สิ่งที่ควรระมัดระวังไว้ก็คือ  ในกรณีที่พนักงานเกิดอุบัติเหตุในงานไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ก็ตามพนักงานก็จะพยายามเรียกร้องสิทธิ์ ในการขอให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้หยุดงานได้นานๆ เพื่อที่จะได้รับเงินค่าชดเชยในการหยุดงานในแต่ละครั้งอีกด้วย  นี่ก็เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่ลูกจ้างและนายจ้างจะเกิดความต้องการที่แตกต่างกัน เพราะผลประโยชน์ที่พนักงานคนที่เกิดอุบัติเหตุในงานก่อนหน้านี้ จะบอกเล่าสู่กันฟังต่อๆกันมา  จนทำให้พนักงานเกิดการเอาอย่างกัน

            จากกรณีศึกษาที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ก็จะได้เป็นบทเรียนสำหรับนักบริหารงานบุคคลที่จะต้องตัดสินใจในเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นในองค์การในอนาคต และสามารถใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาเรื่อง เงินชดเชยรายได้จากการหยุดงานในครั้งนี้ ว่าจะดำเนินการในลักษณะใด เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์การของแต่ละบริษัทต่อไป

 

ดร. กฤติน กุลเพ็ง

“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”