ส่วนใหญ่นักบริหารงานบุคคล ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกผ่านกระบวนการสัมภาษณ์ ทดสอบ ว่าจ้าง รับเข้ามาเป็นพนักงาน ใบสมัครของผู้ถูกสัมภาษณ์ที่คัดเลือก เพื่อนำมาเป็นเปรียบเทียบกัน ก็ถูกนำไปเก็บไว้ โดยที่ไม่ได้ใส่ใจประวัติดังกล่าวอีกเลย ซึ่งในยุคที่แรงงานค่อนข้างหายากเช่นนี้ นักบริหารงานบุคคล ควรเริ่มใส่ใจประวัติดังกล่าวนี้ใหม่ เหมือนกับวัตถุดิบ ในยุคแรกๆ ที่บริษัทนำวัตถุดิบไปผลิตสินค้าแล้ว เกิดความเสียหาย สินค้าถูกเคลมกลับคืนมายังบริษัท สินค้าดังกล่าวก็ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ แต่พอมายุคปัจจุบันเทคโนโลยีเจริญขึ้น ก็ได้คิดค้นวิธีที่จะนำสินค้าที่ชำรุดเสียหาย กลับนำมาย่อยเป็นวัตถุดิบ และนำมาใช้ผลิตสินค้าใหม่ได้ นั่นคือ มองในเรื่อง สิ่งที่นำเข้า(Input) ที่เป็นวัตถุดิบ พอมาพิจารณาสิ่งที่นำเข้าเหมือนกันคือ คน ก็สามารถ นำกลับมาพิจารณาอีกครั้งได้เช่นกัน
ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ ในการคัดเลือกพนักงาน ซึ่งกระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวนใบสมัครของผู้สมัคร ที่ยังเก็บไว้ในช่วงที่ผ่านมาแล้วเกือบปี และเมื่อนำใบสมัคร ที่มีทั้งองค์กรปฏิเสธ และผู้สมัครปฏิเสธ มีเป็นจำนวนมาก เลยลองให้ทางเจ้าหน้าที่สรรหาคัดเลือก ได้โทรศัพท์ เพื่อเข้าไปเรียนเชิญ เข้ามาสัมภาษณ์ในตำแหน่งอื่น หรืออาจจะเป็นตำแหน่งเดิม ที่บริษัทยังขาดบุคลากรอยู่ ผลปรากฏว่าจำนวนใบสมัครที่เก็บไว้ เพราะมีการปฏิเสธจากองค์กร หรือ ผู้สมัครปฏิเสธบ้าง กลับเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ ผู้สมัคร ตอบรับที่จะเข้ามาร่วมกระบวนการสัมภาษณ์กับองค์กรอีก เพราะว่าผู้สมัครที่ได้ตอบรับกลับมานั้น ได้ให้เหตุว่า เคยถูกปฏิเสธ และได้ไปสมัครที่บริษัทอื่นทำงานอยู่ประมาณ 6 เดือน ก็มีปัญหาในการเดินทาง ไปทำงาน เพราะมีระยะทางค่อนข้างไกล นั่นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ผู้สมัครรอคอยองค์กร ที่เขาอยากร่วมงาน เพราะการเดินทางมาทำงานสะดวก หรืออาจจะเป็นองค์กรในฝัน ที่ผู้สมัครอยากทำงานด้วย
สิ่งที่ได้ยกตัวอย่างขึ้นมานั้น ก็อยากให้นักบริหารงานบุคคลที่ยังมีแนวความคิดแบบเดิมๆ คิดว่าประวัติของผู้สมัครที่เคยถูกปฏิเสธจากองค์กร ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ และเป็นสิ่งที่ดีเสียด้วยซ้ำไป ที่ผู้สมัครคิดว่าองค์กรที่เขาเคยไปสมัคร ยังให้ความสำคัญและใส่ใจใบสมัครของเขาอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เมื่อบริษัทหรือองค์กรได้รับพนักงานที่มีความคิดดังกล่าว เข้ามาร่วมงานภายในองค์กร