ด้วยโลกที่ไร้พรมแดน สังคมออนไลน์เข้าสู่เยาวชนทุกครอบครัว จนทำให้แต่ละบ้านไม่ค่อยมีเวลาให้ซึ่งกันและกัน  เพราะส่วนใหญ่มีเวลาแต่การทำงานบนสมาร์ทโฟน ช่วงเวลาว่างจากงานก็ยังต้องใช้สมาร์ทโฟนมาไลน์/แชทหรือโทรหาเพื่อนๆ  ซึ่งต้องยอมรับว่าสิ่งสำคัญในชีวิตในขณะนี้ คือ สมาร์ทโฟน ทุกครอบครัวจึงมีความจำเป็นต้องหาเงินเพื่อมาซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว  มาใช้ในชีวิตประจำวัน  สำหรับครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค ก็ต้องหาเงินมาเพื่อสิ่งเหล่านี้ก่อน  ก็จะทำให้สังคมเกินความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างสังคมของแต่ละครอบครัวที่ได้กล่าวมาข้างต้น

เมื่อสมัยก่อนสังคมการอยู่ร่วมกัน  ยังไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมาก เริ่มแต่สังคมครอบครัว ที่มีความเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน สามารถฝากบ้าน ฝากบุตรหลาน ดูแลซึ่งกันและกันได้ สถาบันครอบครัวก็จะเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ช่วงมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่อง งาน ส่วนตัว สถาบันครอบครัวจะเป็นตัวช่วยให้ปัญหาดังกล่าวลดลงได้  หัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้มีบทบาทในการควบคุม สั่งการ และแก้ปัญหาเกือบทุกอย่างได้   พอมายุคปัจจุบัน สังคมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้สถาบันครอบครัวตามไม่ทัน หัวหน้าครอบครัวที่เคยพึ่งพาได้ ไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ อำนาจที่เคยมีค่อยๆ ลดบทบาทไป สมาชิกภายในครอบครัว ก็ต้องออกไปพึ่งพาจาก สังคมภายนอกที่สามารถให้คำปรึกษาได้  จึงเป็นเหตุให้ผู้เป็นพ่อและแม่ไม่สามารถว่ากล่าวตักเตือนบุตรหลานของตัวเองได้ ต้องไปพึ่งพาคนข้างบ้าน  ให้ว่ากล่าวตักเตือน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บางครอบครัวมีความลำบากที่พ่อและแม่ต้องออกไปประกอบอาชีพในต่างจังหวัด โดยต้องฝากบุตรไว้กับสถานที่รับเลี้ยงหรือญาติๆ นานๆครั้ง จะได้กลับมาเจอหน้าลูก ความรัก ความผูกพันระหว่างพ่อและแม่ กับลูก ยิ่งห่างไกลเข้าไปอีก ลูกอยากได้อะไรก็จะตามใจ เพราะว่านานๆที่จะได้เจอหน้าลูก บางครั้งลูกไม่ให้เขาใกล้ ต้องซื้อสิ่งของมาเป็นสิ่งล่อใจเด็ก จึงจะให้พ่อแม่เข้าใกล้ชิดตัวได้ เมื่อเป็นลักษณะนี้บ่อยมากขึ้น เด็กจะเกิดความรู้สึกอยากได้มากกว่าความผูกพันไม่ใช่เกิดจากความรัก ความห่วงใย จึงทำให้สถาบันครอบครัวเกิดความอ่อนแอ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของเยาวชนได้ในปัจจุบันและอนาคต

สถาบันการศึกษา คือโรงเรียน  พ่อและแม่ เมื่อบุตรเติบโตอายุได้  8 ขวบ ก็จะนำบุตรมาฝากไว้ให้คุณครูเป็นผู้อบรมสั่งสอน ดูแลบุตรต่อจากสถาบันครอบครัว  ด้วยความตั้งใจคืออยากให้บุตรได้ศึกษา เรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้มีความรู้ โดยมอบหมายให้คุณครู ดูแลความเป็นอยู่ สามารถลงโทษเหมือนดั่งสถาบันครอบครัวได้  ด้วยความเป็นนักเรียนก็จะเชื่อฟังคุณครู ให้ความเคารพ เพราะเป็นผู้สอนสั่งให้เขาเกิดความรู้

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน คำว่า ครู เริ่มมีบทบาทน้อยลง ไม่สามารถลงโทษนักเรียนได้เหมือนเมื่อสมัยก่อน เมื่อนักเรียนกระทำผิด ก็ต้องเรียกผู้ปกครองมารับทราบข้อกล่าวหา ถ้าเป็นข้อหาหนัก ก็ต้องเชิญนักเรียนผู้นั้นออกไปเรียนที่โรงเรียนอื่น  ถ้าคุณครู ลงโทษนักเรียนมากไป  ก็จะถูกผู้ปกครองต่อว่าหรือแจ้งความเอาผิดได้  จึงทำให้มาตรการการลงโทษในสถาบันโรงเรียน เริ่มมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้

ยิ่งในสังคมปัจจุบัน บทบาทนักเรียน  ไม่ให้ความเคารพคุณครู มีความขัดแย้งกับคุณครูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นได้ว่ามีการประท้วงเพื่อเอาผู้อำนวยการโรงเรียนออก ไม่ชอบคุณครูบางคนที่มีการลงโทษ จึงทำให้สถาบันการศึกษา คือ โรงเรียน มีความห่างไกลยิ่งขึ้น มากเข้าไปอีก    นักเรียนไม่เชื่อฟังคุณครู  ไม่ให้ความเคารพ หันไปพึ่งจากบุคคลภายนอก ที่คอยให้การดูแล สนับสนุน  โดยเฉพาะสิ่งล่อใจที่เป็นสมาร์โฟน ที่เยาวชนต้องการนำมาใช้สิ่งที่เขาชอบ เช่น การเล่นเกมส์ การถ่ายรูป และการเข้าสู่สังคมออนไลน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งทำให้เยาวชนที่มีความขัดสนทางครอบครัว ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ได้ ก็จะถูกชักนำได้ง่าย โดยมีสิ่งล่อใจเหล่านี้ให้ โดยอาจจะแลกกับการแสดงออกทางสังคมที่ไม่ถูกต้อง เพื่อเป็นการต่อรองบางอย่าง

     สถานบันทางศาสนาอีกสถาบันหนึ่งคือ วัด  ซึ่งในสมัยก่อน ต้องยอมรับว่า เป็นสถาบันที่เติบโตมาพร้อมกับสถาบันการศึกษา คือ โรงเรียน เพราะสมัยก่อนโรงเรียนไม่ค่อยมีมากเหมือนปัจจุบัน เด็กเยาวชน ต้องมาอาศัยพระที่วัด เป็นผู้สอนสั่งวิชาให้  โดยส่วนใหญ่จะเน้นในทางธรรม  เยาวชนเมื่อมีการเข้าวัดเพื่อบวชเรียน  เมื่อสึกออกมาจากพระ  คนส่วนใหญ่ มักจะให้การนับถือ เพราะได้บวชเรียน มีจริยธรรมที่ดีแล้ว

พอมายุคปัจจุบัน เยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยเข้าวัด ไม่นับถือพระสงฆ์ มองว่าเป็นเรื่องมงาย (พระสงฆ์บางรูปก็ทำให้ศาสนาเสื่อมเสียด้วย ดูจากข่าวพระสงฆ์มีพฤติกรรมไม่ดี) จากที่เด็กรุ่นใหม่มีข้อมูลอีกด้านที่เป็นด้านลบ จึงทำให้การเข้าถึงศาสนาพุทธที่เป็นศาสนาประจำชาติ เริ่มน้อยลง  สังเกตจากการบวชของผู้ชายไทยที่อายุครบยี่สิบบริบูรณ์  ไม่มีการบวชเรียน และวัดต่างๆไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัดหรือในเขตเมือง ก็จะมีพระจำวัดอยู่ไม่มาก  จากที่ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์น้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีทัศนคติกับศาสนาพุทธ ได้ข้อมูลว่า น้องๆ จะไม่เลือกนับถือศาสนาใดๆทั้งสิ้น เขาจะนับถือตัวเองเป็นหลัก เขามองว่าตัวตนของเขาเท่านั้นถือเป็นศาสดา  การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเยาวชนของเราในอนาคต เริ่มมีความชัดเจนขึ้น ไม่มีสิ่งใดที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ  การติดสินใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง  จึงไม่มีใครเป็นผู้ที่เยาวชนให้การยอมรับได้  ในช่วงระยะหลังที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีเยาวชนฆ่าตัวตายบ่อยมากขึ้น เมื่อเขาไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็จะมีการตัดสินใจที่มีการเตรียมการมาล่วงหน้าแล้ว โดยไม่ยอมปรึกษาใคร จะเห็นได้ว่าเป็นสัญญาณอันตรายมากขึ้น

เมื่อการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนคนรุ่นใหม่  ที่มีแนวคิดของการเปลี่ยนแปลงที่นิยมแนวทางชาวตะวันตกมากขึ้น เน้นเสรีภาพ มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง จะส่งผลอย่างไรในการบริหารธุรกิจในอนาคตบ้าง แนวทางการบริหารคนในองค์กร จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทอย่างไร  เพื่อให้องค์กรที่มั่นคงสามารถยืนหยัดเป็นที่บริการให้กับลูกค้าให้เกิดความพอใจสูงสุดอยู่ได้  เราในฐานะผู้บริหารจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมกับรับแนวคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือไม่ หรือยังจำเป็นต้องรักษาความเป็นกลางของการบริหารคนไปก่อน

 

ดร.กฤติน   กุลเพ็ง   กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ไอโอดีคอนเซาท์ติ้ง แอนด์เทรนนิ่ง จำกัด

วิทยากรและที่ปรึกษา ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน   ID line:  krittin6


  573 views     Comments