สำหรับองค์กรใหญ่ๆ  นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นขององค์กร  ที่จะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ด้านการบริหารแรงงานสัมพันธ์ของบริษัท  เพื่อที่จะได้เข้าถึงพนักงานทุกระดับ และทุกหน่วยงาน บางองค์กรมองว่า บทบาทเรื่องแรงงานสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น  ซึ่งอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะว่า ถ้าปัญหาด้านแรงงานเกิดขึ้น  มีการประท้วง นัดหยุดงานขึ้นมา  ผลที่องค์กรได้รับก็คือ  ความเสียหายต่อลูกค้า ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ เกิดข้อร้องเรียน

ผู้เขียนจะช่วยเสริมความเข้าใจ เรื่องการบริหารแรงงานสัมพันธ์ในองค์กร เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารยุคใหม่  ที่ยังมองภาพไม่ออก ว่าการบริหารแรงงานสัมพันธ์  นั้นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง  ศัพท์คำว่า แรงงานสัมพันธ์ หมายถึง  ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการ  การบริหารก็จะมี ฝ่ายนายจ้าง + ฝ่ายลูกจ้าง   องค์กรฝ่ายนายจ้าง + องค์กรฝ่ายลูกจ้าง หรือที่เราเรียกว่า  ทวิภาคี    ถ้าสองหน่วยงานนี้มีการหารือกันเป็นประจำ มีการกำหนดข้อตกลงกัน โดยไม่มีปัญหาอะไร  แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม  ที่ทั้งสองหน่วยงานตกลงกันไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหา หน่วยงานที่สาม จะเข้ามาไกล่เกลี่ย คือ หน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาเกี่ยวข้อง  หรือที่เรียกว่า ไตรภาคี  พอมาถึงจุดนี้ การบริหารองค์กรเริ่มลำบาก   เพราะว่ามีหลายหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการบริหาร  ผู้บริหารองค์กรจึงต้องดูแลพนักงานภายในองค์กรให้ดี  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ให้มีหลายหน่วยงานเข้ามายุ่งในการบริหาร จึงต้องมีการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกเอาไว้  โดยการให้หน่วยงาน แรงงานสัมพันธ์เข้าไปมีบทบาทกับพนักงานมากขึ้น  รับฟังข้อมูลปัญหาพนักงาน  เพื่อหาทางแก้ไขอย่างรวดเร็ว  มูลเหตุการณ์เรียกร้องของพนักงานนั้น  ส่วนใหญ่เกิดจากกรณีดังต่อไปนี้

  1. บริษัทไม่มีนโยบาย การจ้างงานที่มีความยุติธรรม เช่น ถ้าเป็นพรรคพวกของใครก็จะมีการทำสัญญาจ้างงาน ในอัตราที่สูง จึงทำให้เกิดความไม่เสมอภาค เกิดขึ้นภายในองค์กร
  2. ไม่ให้ความสำคัญแก่งาน แรงงานสัมพันธ์ บริษัทมองว่า เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย โดยไม่จำเป็น  ถ้าพนักงานมีอะไร ก็ให้ขึ้นมาพบผู้บริหารได้  แต่ในทางปฏิบัติแล้ว  พนักงานไม่กล้าที่จะขึ้นมาพบผู้บริหารองค์กร  เพราะเกรงว่าจะไม่เกิดความยุติธรรมแกตัวเขาเอง
  3. ผู้รับผิดชอบงานแรงงานสันพันธ์ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ  จึงทำให้ข้อมูล ข่าวสารออกมาผิดเพี้ยน  ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจที่ผิดพลาด  เกิดปัญหาการนัดหยุดงานของพนักงาน
  4. หัวหน้า/ผู้จัดการ ไม่เอาใจใส่ในข้อร้องเรียนของพนักงาน ในข้อบังคับของบริษัท  จะเขียนไว้ว่า ในกรณีที่พนักงานมีปัญหาสามารถร้องเรียนมายังหัวหน้าอีกระดับหนึ่งได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับขององค์กร  แต่ช่องทางนี้  ถูกบล็อคโดยผู้จัดการ  ไม่เอาใจใส่ ในข้อร้องเรียนของพนักงาน ระดับล่าง  จึงทำให้พนักงานต้องใช้ช่องทางอื่น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวพนักงาน
  5. พนักงานบางส่วนสร้างอำนาจต่อรองเพื่อปกป้องตนเอง ในกรณีที่พนักงานได้มีการหยุดงานไปแล้ว  เพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  เพื่อให้ได้มาซึ่ง การเรียกร้องในครั้งนี้  เมื่อมีการเจรจากัน  พนักงานจะสร้างอำนาจต่อรองเพื่อปกป้อง กรณีที่เขาได้หยุดงานไป  ไม่เช่นนั้น จะถูกบริษัทลงโทษเรื่อง การขาดงานได้
  6. สหภาพต้องการผลงาน บางยุคสมัยสหภาพค่อนข้างแรง  จึงต้องหาผลงาน  และต้องการเงินสนับสนุนเพื่อทำกิจกรรม จึงต้องให้มีการนัดหยุดงานเกิดขึ้นในบริษัทนั่นเอง

การบริหารแรงงานสัมพันธ์  ภายในองค์กร  ผู้บริหารควรจะต้องให้ความสำคัญ เพราะว่าบางครั้ง ผู้บริหารไม่มีเวลาที่จะลงไปคลุกคลีกับพนักงานระดับล่างได้  จึงต้องอาศัยหน่วยงาน ทางด้าน HR ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการหาข้อมูลเชิงลึก  มาแก้ไขปัญหาของแต่ละจุด ไม่ให้บานปลายออกไป  โดยมุ่งเน้นที่จะเสริมสร้างให้พนักงานและบริษัททำงานกันอย่างมีความสุขและเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน  มุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน

วิธีการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์  อย่างคร่าวๆ  เพื่อที่จะให้ผู้บริหารได้มองภาพกว้างๆ ได้

  1. การเน้นการสื่อข้อความภายในองค์กรให้มากขึ้น บางครั้งการออกประกาศ หลักเกณฑ์ ต่างๆ ภายในองค์กร  บางครั้งทำให้ไปกระทบจิตใจของพนักงานได้  โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานกับองค์กรนานๆ  ซึ่งเป็นพนักงานที่จงรักภักดีต่อองค์กร  ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่าง ขององค์กรแห่งหนึ่ง  ที่ได้จัดสวัสดิการให้กับพนักงาน ที่ใกล้เกษียณอายุ   บริษัทได้จัดประกาศให้กับพนักงานที่มีอายุงานกับบริษัทมากๆ  ผู้บริหารอยากจะตอบแทนพนักงานนั่นเอง  แต่พอประกาศออกไปเท่านั้นเอง  เสียงที่ตอบรับจากพนักงานกลุ่มนี้  แทนที่จะมีความยินดีและดีใจ ที่บริษัทได้จัดสวัสดิการให้  แต่พนักงานกลุ่มนี้กับมองไปในทางลบว่า  ผู้บริหารองค์กร กำลังจะให้เขาออกจากองค์กรแห่งนี้ จึงทำให้พนักงานดังกล่าวเกิดความน้อยใจ  จากที่เคยทุ่มเทให้กับบริษัท  เป็นกระบอกเสียงให้กับน้องๆ ที่ปฏิบัติงาน กับพูดให้ร้าย สร้างความเสียหายให้กับบริษัท  จึงเป็นบทเรียนที่ผู้บริหารองค์กร  ต้องเอาใจใส่ในการประกาศแต่ละครั้ง  เพราะว่าอย่ามองว่าสิ่งที่ให้เป็นคุณแก่พนักงาน  แต่พนักงานอาจจะมองต่างมุมก็ได้  ซึ่งกระบวนการสื่อสารของบริษัท จำเป็นต้องให้หัวหน้างาน/ผู้จัดการ เข้าไปทำความเข้าใจ ให้กับพนักงานทุกครั้ง  ที่มีการประกาศหรือมีแนวปฏิบัติ อะไรออกไปทุกครั้ง  เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพนักงาน
  2. การปรับปรุงสภาพการทำงานขององค์กร นอกจากสิ่งที่ให้กับพนักงานโดยตรงแล้ว  ยังมีอุปกรณ์ที่ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน ในการปฏิบัติงาน  เช่น  ห้องน้ำ  น้ำดื่ม  พัดลมระบายอากาศ   ความร้อนในสถานที่ทำงาน   ฝุ่น  ควัน  แสงสว่าง   และความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน  เป็นต้น  สิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมด  บริษัทควรจะต้องเอาใจใส่ต่อพนักงานอย่างจริงใจ  ที่จะทำให้เพื่อพนักงาน  โดยไม่ต้องรอเวลา ควรแก้ปัญหาทันที  เมื่อได้รับการร้องขอจากพนักงาน  ซึ่งการแก้ปัญหาแบบรวดเร็ว และเร่งด่วน  จะทำให้พนักงานมองว่า หัวหน้า/ผู้จัดการ  เอาใจใส่มองเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับพนักงาน  บางครั้งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ สะสมไปนานๆ เข้า  ก็จะเกิดเป็นประเด็นใหญ่ๆ ขึ้นมาได้   เพราะว่าผู้บริหารสะสมเอาไว้นาน จนทำให้พนักงานทนไม่ไหว การปรับปรุงสภาพการทำงาน จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของการแก้ปัญหาในการทำงาน เพื่อไม่ให้พนักงาน เกิดกรณีพิพาทข้อร้องเรียนกับผู้บริหารได้  ถ้าเกิดบาดหมาง ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องเมื่อใดแล้ว  การที่จะให้ความรู้สึกกลับมาเหมือนเดิม ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ
  1. การเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก โดยการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องภายในองค์กร  ผู้ประสานงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ดีที่สุด คือ หน่วยงาน HR ที่ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์  ซึ่งตำแหน่งนี้จะดำเนินการสร้างกิจกรรมภายในองค์กร  เพื่อให้พนักงานได้มาร่วมกิจกรรมของบริษัท  โดยเฉพาะกิจกรรมสันทนาการ เช่น  กิจกรรมดนตรี  กิจกรรมปลูกป่า  กิจกรรมกีฬา  กิจกรรมถ่ายภาพ  เป็นต้น  การที่บริษัทได้ใช้งบประมาณ ในส่วนนี้เพื่อพนักงานก็เพราะว่า  การที่พนักงานมาร่วมกิจกรรมกันหลังเลิกงาน  ก็เพื่อที่จะได้มีโอกาสได้พบปะ หารือกัน อย่างไม่เป็นทางการ  สิ่งที่เคยเจรจากันในระหว่างเวลาทำงานไม่ประสบความสำเร็จ  แต่เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมกันแล้ว  ความรู้สึกที่ดีอาจจะมีขึ้น  ก็สามารถตกลงกันได้ด้วยดี  และสิ่งที่ได้จาก การที่พนักงานได้มาร่วมกิจกรรมนั้น  สิ่งที่พนักงานไม่พอใจบริษัท หรือแนวปฏิบัติบางอย่างที่บริษัทสร้างเกณฑ์ ขึ้นมา พนักงานเกิดความไม่พอใจ  ก็อาจจะใช้เวทีนี้ปรับทุกข์กัน  ซึ่งบริษัทก็จะรับทราบถึงความรู้สึกของพนักงานได้  และนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง  และตรงประเด็นของพนักงาน
  1. การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน บางสถานการณ์บริษัทได้กำหนดนโยบายองค์กรออกมาแต่ละปี  อาจจะมีผลกระทบต่อพนักงาน บางหน่วยงาน  ซึ่งทำให้ประสบปัญหาด้านรายได้  เช่น  มีบางปีที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี  บริษัทต้องมีนโยบาย การวางหลักเกณฑ์ การทำงานล่วงเวลาโดยไม่ให้มี ค่าล่วงเวลา เกิดขึ้นสำหรับหน่วยงานที่เป็นสายออฟฟิศ  แน่นอนครับ มีพนักงานที่มีรายได้จากส่วนนี้  มาดูแลครอบครัว  ซึ่งในทางแก้ปัญหาในลักษณะนี้  ก็อาจจะหารือกับผู้บริหารหน่วยงานอื่น ที่ต้องการพนักงานที่เข้าไปทำงานล่วงเวลา  ก็สามารถให้พนักงานหน่วยงานที่สังกัดสำนักงาน เข้าไปทำงานล่วงเวลาได้  นั่นคือแนวทางการช่วยเหลือ  แต่พนักงานก็จะมีลักษณะความเดือดร้อนที่แตกต่างกันออกไป  สิ่งที่ผู้บริหารได้ข้อมูลมา ก็คงจะต้องนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเสียก่อน เพื่อดูว่า การเข้าไปช่วยเหลือของบริษัท จะกระทบพนักงานโดยส่วนรวมหรือไม่ และกระทบต่องบประมาณของบริษัทด้วย  ฉะนั้นความเดือดร้อนของพนักงานบางอย่าง  ไม่ใช่ว่าบริษัทจะต้องนำไปแก้ไขให้ทั้งหมด คงไม่ใช่   อาจจะต้องนำมาพิจารณาถึงความเหมาะสมในการช่วยเหลือ เป็นรายๆไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงาน

 

ดร.กฤติน   กุลเพ็ง   กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ไอโอดีคอนเซาท์ติ้ง แอนด์เทรนนิ่ง จำกัด

วิทยากรและที่ปรึกษา ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน     ID line:  krittin6


  บทความ     
  2462 views     Comments