บางครั้งคณะกรรมการสัมภาษณ์จะมุ่งเน้นที่จะสัมภาษณ์ผู้สมัครอย่างเดียวคงไม่ทันกาล เพราะว่าในโลกปัจจุบันขณะนี้ผู้สมัครก็มีทักษะ ความรู้ ความสามารถเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการแสดงออกของผู้สมัครในยุค Gen Y ก็มีความเข้มข้น มีความกล้าแสดงออก มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก จนกระทั่งผู้ที่เป็นคณะกรรมการสัมภาษณ์ที่มีประสบการณ์น้อย ไม่สามารถทราบได้เลย ผู้สมัครมีความสามารถ และทักษะสูง ตามคำกล่าวอ้างหรือไม่ หรือในบางแง่มุมหนึ่งของชีวิต ผู้สมัครเอง อาจจะไม่ได้ระวังตัวเอง เมื่อยังไม่ถึงเวลาเข้าเวทีการสัมภาษณ์งานจริง ซึ่งองค์กรต้องหาวีธีการที่จะสังเกตพฤติกรรมผู้สมัครให้ได้อย่างแยบยล โดยที่ผู้สมัครไม่ได้ระมัดระวังตัวเลยแม้แต่น้อย
จากที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการสัมภาษณ์งานในองค์กรมาหลายแห่งหรือแม้กระทั่งเคยถูกเชิญไปเป็นคณะกรรมการสัมภาษณ์นอกสถานที่มาแล้วก็ตาม การใช้เวลาในช่วงที่คณะกรรมการสัมภาษณ์ ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้สมัครคนละประมาณ 15-20 นาที บางครั้งไม่อาจที่จะสังเกตพฤติกรรมผู้สมัครได้อย่างครบถ้วนทุกประเด็นได้ จึงต้องมีความจำเป็นที่จะอาศัยขณะผู้ถูกสัมภาษณ์นั่งรอคณะกรรมการสัมภาษณ์อยู่ที่บริเวณห้องพักห้องใดห้องหนึ่งซึ่งในห้องดังกล่าวจะมีการจัดเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ไม่ว่า จะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ VDO แนะนำบริษัท เครื่องดื่ม น้ำ กาแฟ และหนังสืออ่านเล่นไว้บริการ ให้ผู้สมัครได้บริการตัวเอง ตามความสมัครใจ ทางบริษัทจะมีเจ้าหน้าที่บุคคลคอยให้การต้อนรับ และคอยอำนวยความสะดวกในการประสานงาน ติดต่อกันระหว่างคณะกรรมการสัมภาษณ์ กับผู้สมัคร เพื่อจัดคิวว่าผู้สมัครคนใดที่จะต้องถึงเวลาสัมภาษณ์กับคณะกรรมการได้แล้ว ซึ่งในระหว่างรอการสัมภาษณ์อยู่นั้น จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่บุคคลจดบันทึกพฤติกรรมของผู้สมัครแต่ละคนไว้ด้วย ว่าแต่ละคนมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง เมื่อขณะนั่งรออยู่ ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างผู้สมัครบางคนที่นั่งรอสัมภาษณ์อยู่นั้น จะทำการแนะนำตัวเอง ต่อเพื่อนๆที่รอสัมภาษณ์อยู่ทั้งหมด คือ ทำความรู้จักกับเพื่อนๆได้หมด โดยไม่ต้องให้ใครมาแนะนำให้ พฤติกรรมนี้ก็จะแสดงให้เห็นว่า ผู้สมัครมีมนุษย์สัมพันธ์ มีการทำงานเป็นทีมสูง ชอบสังคม โดยจะต้องนำพฤติกรรมนี้ไปเปรียบเทียบกับแบบทดสอบบุคคลิกภาพ หรือทดสอบคุณสมบัติผู้สมัครด้วยก็ได้ หรือถามเพิ่มเติมเมื่อเข้าสัมภาษณ์
อาจจะมีผู้สมัครบางรายที่ไม่ยอมพูดและทำความรู้จักกับใครเลย นั่งรอสัมภาษณ์อย่างเดียวก็มี หรือแม้กระทั่งบริษัทจัดให้ผู้สมัครนั่งรอที่ห้องแต่บางคนไม่นั่งรอ ขออยู่นอกห้อง และเดินดูบริเวณบริษัทก็มี ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บุคคลก็ต้องห้ามปราม เพราะว่าเป็นสถานที่โรงงาน ไม่ให้ใครที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้เข้าไป ในบริเวณโรงงานที่กำลังทำการผลิตสินค้า ซึ่งพฤติกรรมลักษณะนี้ก็จะมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แสดงว่า ผู้สมัครมีความอยากรู้อยากเห็น ไม่อยู่นั่งอยู่กับที่ หรือไม่ก็อยากสูบบุหรี่ อยากไปอยู่นอกห้อง พฤติกรรมต่างๆเหล่านี้ต้องกระซิบ บอกน้องที่เป็นเจ้าหน้าที่บุคคลเอาไว้ ว่าขณะที่อยู่ในห้องนั่งรอนั้น มีผู้สัมภาษณ์คนใดที่มีการแสดงออกทางพฤติกรรมมากผิดกว่าปกติหรือไม่
การสังเกตพฤติกรรมที่เกิดจากที่ผู้สมัครไม่รู้ตัวมาก่อน ก็จะทำให้เห็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาจริง เป็นตัวตนที่แท้จริงของเขา ก็จะทำให้บริษัทได้ตัดสินใจ รับคนเข้าสู่องค์กรได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นนั่นเอง หรือมีบางองค์กรไม่ใช้เจ้าหน้าที่บุคคล เป็นผู้ประสานงานในห้อง แต่ใช้เป็นกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้ เพื่อสังเกตพฤติกรรมผู้สมัครแต่ละคน โดยที่ผู้สมัครจะแสดงบทบาทของตัวเองได้อย่างสบายใจ หรือบางครั้งมีการซักซ้อมกันเองระหว่างผู้สมัครก็มี โดยที่ผู้สมัครคนแรกที่ถูกสัมภาษณ์จะเป็นผู้นำข้อมูลที่ถูกสัมภาษณ์มาเล่าให้เพื่อนๆฟัง ก็เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็น
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสัมภาษณ์จะต้องใช้ทักษะ ประสบการณ์ที่มีอยู่ ประมวลในภาพรวม หลังจากได้มีการสัมภาษณ์ผู้สมัครแล้ว ประกอบกับได้ข้อมูลเชิงพฤติกรรมที่สังเกตได้จากการนั่งรอในห้องรอสัมภาษณ์ ก็จะสามารถเทียบเคียงกันได้ ว่าพฤติกรรมที่ผู้สมัครแสดงออกมานั้น เป็นพฤติกรรมที่แท้จริงของเขาหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า เป็นแนวทางหนึ่งที่องค์กรใหญ่ๆ ได้นิยมใช้กัน เพราะจะได้ข้อมูลที่มีความเป็นจริงสูงกว่าได้จาก การนั่งสัมภาษณ์ เพราะว่าผู้สมัครมีความเป็นตัวเองสูง มีความมั่นใจ มีข้อมูลเชิงสัมภาษณ์จากองค์กรอื่นมามากมาย จะทำให้ผู้ที่เป็นคณะกรรมการสัมภาษณ์ตามไม่ทัน ก็ต้องใช้วิธีนี้เขาช่วย เพื่อประกอบการตัดสินใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ผู้เขียน ดร.กฤติน กุลเพ็ง ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน เป็นอาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน