การจัดสวัสดิการให้กับพนักงาน ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเสียก่อนว่า เมื่อให้ไปแล้วถือเป็นสวัสดิการ ไม่สามารถเอากลับคืนได้ ซึ่งผู้บริหารองค์กรถ้าไม่มองถึงประเด็นที่จะเกิดปัญหาองค์กรในระยะยาวแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อนโยบายในภาพรวมของบริษัท เพราะว่านโยบายดูดีมาก พนักงานให้การตอบรับเป็นอย่างดี แต่พอให้สักระยะหนึ่งปัญหาเริ่มตามมาหลายอย่าง ผู้บริหารต้องนำมาแก้ไขในห้องประชุมเป็นประจำทุกเดือน เพื่ออนุมัติให้พนักงานที่มีปัญหาให้สามารถผ่อนชำระหนี้ของบริษัทเป็นรายเดือน ก็เลยไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผู้บริหารคิดและให้พนักงานนั้น ไม่น่าจะเป็นผลลบต่อบริษัท

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีพนักงานส่วนใหญ่เป็นแรงานที่ทำงานในโรงงานอยู่ในต่างจังหวัด เมื่อทำงานได้สักระยะหนึ่ง พนักงานดังกล่าวจะเริ่มมีแนวคิดในการสร้างหลักปักฐาน มีครอบครัว และมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง โดยเริ่มที่บ้าน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอำนวยความสะดวกภายในบ้าน จนต้องทำให้พนักงานดังกล่าวเริ่มไปกู้เงินนอกระบบ เอามาใช้ซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวก ในช่วงเดือนแรกไม่เป็นไร แต่พอเวลาผ่านไป 2-3 เดือน เริ่มมีปัญหาทางการเงินกับเงินนอกระบบ มีปัญหาเรื่องการติดตามจากเจ้าหนี้ ที่เป็นผู้ให้กู้นอกระบบ มาดักรอบริเวณหน้าโรงงาน พนักงานจำเป็นต้องหยุดงาน เพื่อหนีหน้าเจ้าหนี้ ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงาน เมื่อหัวหน้า/ผู้จัดการทราบเรื่องข้อเท็จจริง จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหาร เพื่อกำหนดนโยบายช่วยเหลือพนักงาน ที่มีปัญหาดังกล่าว โดยการติดต่อกับทางธนาคารในเขตบริเวณโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เพื่อมาดำเนินการปล่อยกู้ให้กับพนักงานเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะต้องใช้พนักงานที่อยู่ในระดับเดียวกัน เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งกันและกัน ประกอบกับบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบในขั้นสุดท้าย เมื่อพนักงานเกิดปัญหาในการขาดส่ง ถ้าธนาคารอนุมัติปล่อยกู้ พนักงานจะสามารถกู้ได้สามเท่าของค่าจ้างตนเอง นโยบายการแก้ปัญหาของผู้บริหารได้รับการตอบรับจากพนักงานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการแก้ปัญหาให้พนักงานได้ถูกจุด พนักงานได้รับเงินไปเพื่อชำระหนี้ ที่เป็นเงินนอกระบบ ผู้บริหารเกิดความรู้สึกว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาให้กับลูกน้องตนเอง

เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6 เดือน ปัญหาใหม่ก็ตามมาอีก ผู้บริหารพบว่าปัญหาพนักงานที่ลาออกจากบริษัท โดยส่วนใหญ่จะไม่ได้เขียนใบลาออกอย่างถูกต้องตามระเบียบบริษัท ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลเชิงลึก จากพนักงานที่ได้ออกไปโดยการขาดงานไปนั้น ก็เพราะว่าไปค้ำประกันให้เพื่อนที่กู้ธนาคารออกมา แล้วเพื่อนที่กู้ไปหนีหนี้ไปแล้ว ธนาคารจำเป็นต้องบังคับให้พนักงานที่เป็นผู้ค้ำประกัน ดำเนินการใช้หนี้ตามสัญญาที่ธนาคารกำหนด ซึ่งโดยส่วนใหญ่พนักงานที่ขาดงานไป จะมีปัญหาเรื่องหนี้สินแถบทั้งนั้น เลยทำให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา ว่าพนักงานที่ไปค้ำประกันไม่ได้ติดหนี้ ต้องรับใช้หนี้เพื่อนพนักงานด้วยกัน บางคนก็ต้องตัดสินใจออกจากโรงงาน โดยไม่ได้ลาออกอย่างถูกต้องอีกเช่นกัน ข้ามไปทำงานอีกจังหวัดหนึ่ง เพราะปัญหาเรื่องการให้สวัสดิการพนักงานที่อย่างผิดวิธีนั่นเอง

ปัญหาที่เกิดขึ้น แทบจะเกือบทุกบริษัทที่เกิดปัญหาเช่นนี้ จากการสำรวจปัญหาจากการเขียนใบลาออกของพนักงานก็ไม่ได้ตอบโจทย์อย่างแท้จริง ฝ่าย HR ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าพนักงานที่แท้จริงแล้ว ขาดงานออกไปเพราะสาเหตุอะไร ยกเว้นว่าพนักงานที่ออกไปส่งข่าวมาบอกในทางลับว่า ในข้อเท็จจริงพนักงานไม่อยากออก แต่ต้องจำเป็นต้องเดินออกจากบริษัท เพราะว่าไม่มีปัญญาในการหาเงินมาชำระหนี้ธนาคารได้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินของพนักงานอย่างมากมาย ส่งผลให้ธนาคารต้องระงับการปล่อยกู้กับพนักงานบริษัทที่มีปัญหาดังกล่าว เลยจากที่นโยบายที่ดีของผู้บริหาร ที่ได้รับเสียงตอบรับจากพนักงานทั้งองค์กร ว่าเป็นนโยบายที่ดี เป็นการช่วยเหลือพนักงานอย่างตรงประเด็น กลับกลายมาเป็นปัญหาบริษัท ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลถึงภาพลักษณ์องค์กรตามมา จึงเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้บริหารองค์กรที่จะต้องคิดอย่างรอบคอบไว้เสียแล้วว่า ถ้าจะออกสวัสดิการอะไรให้กับพนักงาน ควรจะต้องศึกษาพฤติกรรมของพนักงานในแต่ละคนด้วยว่ามีพฤติกรรมของการใช้จ่ายอย่างไร ก่อนที่จะเซ็นใบรับรองเงินเดือนออกไป ต้องเช็ค ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของพนักงานเป็นรายบุคคล เพื่อที่จะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้ตามมาได้


  บทความ     
  729 views     Comments