ชื่อเรียกระดับผลงาน/ผลการประเมินสำคัญไฉน พอพูดถึงผลการประเมิน เราคงจะนึกถึง วิธีการประเมิน แบบฟอร์มที่ใช้ในการประเมิน และตัวชี้วัดที่จะนำมาเป็นตัวกำหนดผลของการประเมิน ของพนักงานแต่ละคน สำหรับองค์กรโดยทั่วไป มักจะใช้ผลการประเมินการปฏิบัติงานของพนักงาน มาจาก
– แผนงาน / เป้าหมาย ที่ตกลงกัน (WHATS)
– แผนงาน / เป้าหมาย มีการทบทวนระหว่างปี
– พิจารณาวิธีการปฏิบัติงาน (HOW) ด้วย
ถ้าพนักงาน ทำได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ หัวหน้าจะทำการประเมินผลการปฏิบัติการงาน พนักงานดังกล่าว อยู่ในระดับผลงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี-ดีมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลงตั้งแต่ต้น เช่น ตกลงกันเป็นระดับคะแนน ว่าเริ่มตั้งแต่เท่าไรถึงเท่าไร แล้วกำหนดให้เป็นเกรด ออกมา ดังตัวอย่าง ข้อมูลด้านล่าง
สำหรับองค์กรบางแห่ง ก็มีการกำหนดระดับผลงานออกเป็น 1 2+ 2 3 ซึ่ง ระดับผลงาน 1 ก็เทียบเท่ากับ ระดับผลงาน A และ 2+ เทียบเท่ากับ ระดับผลงาน B ตามลำดับ สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะยกเป็นอุทาหรณ์ สำหรับการบริหารผลการปฏิบัติงาน สำหรับองค์กรที่เป็นคนไทย เมื่อนายจ้างนำผลประโยชน์ใส่เข้าไปให้กับพนักงาน ที่ได้ระดับผลงานต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ก็เลยทำให้ พฤติกรรมพนักงานปรับเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น พนักงานมีผลการประเมินการปฏิบัติงาน ตามเป้าหมายแต่ละคน โดยจะมีผลการขึ้นเงินเดือน เป็น เปอร์เซ็น จากฐานค่าจ้างของพนักงานแต่ละคน เช่น
A = 8 % B = 6 % C = 4 % D = 2 % E = 0 %
ถ้าพิจารณาดูแล้ว พนักงานที่ทำงานได้ตามมาตรฐานคือ พนักงานที่มีระดับผลการประเมินอยู่ที่ เกรด C แต่ระดับผลงานที่เหนือกว่า คือ A และ B เป็นพนักงานที่ทำงานสูงกว่ามาตรฐาน ก็จะได้รับการปรับค่าจ้างสูงกว่า พนักงานที่มีระดับผลการประเมิน ที่อยู่ในระดับผลงานเกรด C สำหรับในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ยังใช้ผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานในองค์กรมาเป็นข้อมูล ในการพิจารณา ถึง
- การขึ้นค่าจ้าง
- การจ่ายโบนัสประจำปี
- การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
- การปรับค่าจ้างเป็นกรณีพิเศษ
- การลงโทษ
- การให้ออก/ปลดออก
เมื่อระดับผลการประเมิน มีผลต่อความเป็นอยู่พนักงานขนาดนี้ ย่อมกระทบต่อความรู้สึกของพนักงานอย่างแน่นอน องค์กรบางองค์กรเริ่มเข้าใจความรู้สึกของพนักงานที่ถูกประเมินแล้วได้ระดับผลงานต่ำ นั่นหมายถึงภาพลักษณ์และศักดิ์ศรีของคน จากที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ในเรื่อง การประเมินผลการปฏิบัติงานมาพอสมควร จากที่เคยใช้ระดับผลงานที่เป็นระบบเกรด A B C D E เมื่อพนักงานได้ผลการประเมินที่ เป็น C ก็มักจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่ความหมายของ ผลงานระดับ C คือ ได้ผลงานตามมาตรฐานขององค์กรก็ตาม
แนวคิดสมัยใหม่ของผู้บริหาร จึงมีการปรับเปลี่ยนระดับผลงาน โดยใช้ชื่อเรียกให้ดูมีผลทางจิตวิทยาของคนมากขึ้น เช่น
ระดับผลงานที่เป็นเกรด
A ให้เปลี่ยนมาเป็น A++
B ให้เปลี่ยนมาเป็น A+
C ให้เปลี่ยนมาเป็น A
D ให้เปลี่ยนมาเป็น B
E ให้เปลี่ยนมาเป็น C
จากได้มีการทดสอบและทดลองใช้งานในบางองค์กร พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้น ทั้งๆที่ ผลงานที่ออกมาก็อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เงินเดือนและผลประโยชน์ ที่ได้รับก็เป็นตัวเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่ความรู้สึกของพนักงาน ที่คนอื่นมองหรือการรับรู้จากผู้อื่น จะเป็นความรู้สึกในทางที่ดี ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีของคนด้วยเช่นกัน ฉะนั้นองค์กรที่มีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ลองใช้วิธีนี้ดูก็น่าจะแก้ปัญหาได้บ้างไม่มากก็น้อยครับ