กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่แต่ละองค์กร ได้จัดตั้งขึ้น เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับพนักงาน  แต่พนักงานมองไม่เห็นประโยชน์  ซึ่งผู้เขียนอยากจะขอทำความเข้าใจ เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เกิดความเข้าใจ  กล่าวคือ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น  เงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสะสม” และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” นั่นคือ นอกจากลูกจ้างจะออมแล้ว นายจ้างยังช่วยลูกจ้างออมอีกแรงหนึ่งด้วย และนายจ้างจะจ่ายสมทบในจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าที่ลูกจ้างจ่ายสะสมเสมอ  จึงอาจกล่าวได้ว่าการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง จึงช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างนานๆ

การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีการออมอย่างต่อเนื่อง มีวินัย และมีนายจ้างช่วยออมแล้ว ยังมีการนำเงินไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารโดยมืออาชีพที่เรียกว่า “บริษัทจัดการ” โดยดอกผลที่เกิดขึ้นจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน
เงินออมของสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเติบโตจากเงินสะสมและเงินสมทบที่ต้องมีการนำส่งเข้ากองทุนทุกเดือน รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของกองทุน อย่างไรก็ดี กองทุนจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้สมาชิก เนื่องจากจะสะสมยอดเงินทั้งหมดให้เป็นก้อนใหญ่ เพื่อเก็บไว้รอจ่ายคืนให้สมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพ เช่น เมื่อลาออกจากงาน นอกจากนี้ กองทุนจะไม่ให้สมาชิกถอนเงินออกบางส่วน เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกนำเงินไปใช้ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออมเงินเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ

สมาชิกกองทุนมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง โดยจะได้รับส่วนของเงินสะสมเต็มจำนวนทุกกรณี พร้อมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสะสม สำหรับในส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ซึ่งสมาชิกสามารถขอดูรายละเอียดของข้อบังคับกองทุนได้ที่คณะกรรมการกองทุน

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนงาน สมาชิกอาจขอคงเงินไว้ในกองทุนของนายจ้างเดิมเป็นการชั่วคราวเพื่อรอโอนเงินจากกองทุนเดิมไปออมต่อในกองทุนนายจ้างรายใหม่ ซึ่งเป็นการออมอย่างต่อเนื่องในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ เพื่อสมาชิกจะได้มีเงินออมจำนวนที่มากพอเมื่อถึงวันเกษียณอายุ และมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ  นอกจากนี้ การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้จนเกษียณอายุ เงินที่รับออกจากกองทุนจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวนด้วย

นั่นคือรายละเอียดของ การที่พนักงานสมัครเข้ากองทุน จะมีผลประโยชน์อย่างมากมายในช่วงวัยเกษียณอายุจากการเป็นพนักงาน และในช่วงเวลาแต่ละปี พนักงานสามารถที่จะนำเงินที่ถูกหักในแต่ละเดือนรวมเป็นทั้งปี  นำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนด้วย

จากการที่ผู้เขียนมีประสบการณ์การเซ็นให้พนักงานลาออกจากกองทุนได้ แต่ไม่ได้ลาออกจากการเป็นพนักงาน ขององค์กรแห่งหนึ่ง  ซึ่งในช่วงแรกๆ ยังไม่เกิดความรู้สึกอะไร แต่พอมาช่วงกลางปี  มีจำนวนพนักงานที่เริ่มเขียนใบลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทมากขึ้น  ซึ่งมีประมาณ 10 คนต่อเดือน   ผู้เขียนเริ่มมีความรู้สึกได้ว่า พนักงานเกิดปัญหาอะไรที่นอกเหนือจากนี้หรือไม่  จึงได้ขอเชิญพนักงานที่เขียนใบลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เขียนใบลาออกประจำเดือน มาพูดคุยเป็นรายบุคคลเป็นการส่วนตัว  จึงได้ผลสรุปออกมาที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ  พนักงานให้คำตอบเป็นเสียงเดียวว่า  การทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานนั้น  มีข่าวลือทั้งองค์กรว่า  กรณีที่พนักงานกระทำความผิดจนถูกให้ออกจากการเป็นพนักงาน  เงินดังกล่าวจะถูกบริษัทยึดไว้ไม่คืนให้กับพนักงาน  ซึ่งพนักงานที่ขึ้นมาเขียนใบลาออกจากกองทุนทั้งหมดนั้น ถูกการลงโทษตักเตือนเรื่อง การมาปฏิบัติงานสาย  จึงทำให้พนักงานเกิดความไม่สบายใจว่า  ถ้าบริษัทให้ออกจากองค์กร จะทำให้เข้าสูญเสียเงินที่ถูกหักไปแต่ละเดือนด้วย  จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่พนักงานขอลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเชื่อความลือจากพนักงานด้วยกัน  เมื่อทราบสาเหตุเช่นนี้ จึงต้องทำการสื่อสารให้กับพนักงานที่มีแนวคิดจะเขียนใบลาออกจากกองทุนให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับพนักงานที่เข้าใจว่า เมื่อถูกบริษัทให้ออกจากการเป็นพนักงานแล้ว จะทำให้เขาสูญเงินที่ถูกหักไปนั้นไม่เป็นความจริง  สำหรับกฎระเบียบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในส่วนที่พนักงานสะสมไปทุกเดือน ๆละ 3 %  4 %  5 %  ตามอายุงาน เมื่อพนักงานกระทำความผิด จนถูกให้ออกจากการเป็นพนักงานนั้น บริษัทไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดเงินของพนักงานในส่วนนี้ไว้ได้ เพราะเป็นเงินในส่วนของพนักงาน  บริษัทต้องคืนเงินส่วนนี้พร้อมดอกเบี้ยที่นำไปลงทุนทั้งหมดให้แก่พนักงาน  แต่พนักงานจะไม่มีส่วนได้รับ คือเงินที่สมทบจากบริษัทเท่านั้น   เช่น ในกรณีที่พนักงานถูกให้ออกจากการเป็นพนักงานบริษัท ในกรณีที่กระทำความผิด  พนักงานจะได้รับในส่วนที่พนักงานสะสมไว้ให้กับองค์กร พร้อมดอกเบี้ย จำนวน 3-5%  ตามอายุงานของพนักงาน  ที่อยู่ในบริษัท

เมื่อได้อธิบายรายละเอียดให้พนักงานได้เข้าใจในส่วนนี้  ก็มีพนักงานส่วนหนึ่งขอยกเลิกใบลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  เพราะว่าความไม่เข้าใจของพนักงานนั่นเอง แต่ผู้เขียนพบความผิดปกติ มากกว่านั้นคือ ยังมีพนักงานเก่าๆ ที่ไม่ยอมสมัครเข้ากองทุนอีกหลายคน เพราะว่าไม่มั่นใจว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีความสำคัญต่อตัวเขาอย่างไร

ฉะนั้นแนวทางการแก้ไข ฝ่าย HR ควรจะให้ความรู้กับพนักงานใหม่ ที่เข้ามาสู่องค์กรตั้งแต่เริ่มแรกของการปฐมนิเทศพนักงานใหม่  เพื่อให้เกิดความเข้าใจข้อบังคับกองทุนของบริษัท เพื่อที่จะได้วางแผนการออมเงินได้ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อตัวพนักงานเอง  เพราะสิ่งที่องค์กรได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ เพื่อดึงดูดพนักงานให้อยู่องค์กรนานๆ เงินส่วนที่ถูกหักไปจะนำไปใช้ เมื่อตอนพนักงานเกษียณอายุ จะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้ทั้งก้อนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพนักงานอย่างแท้จริง