ความเข้าใจของผู้บริหารองค์กร  โดยส่วนใหญ่มักจะมองว่า  การที่พนักงานทำอะไรที่เป็นคุณงาม ความดี บริษัทต้องยกย่อง ชมเชยพนักงาน  ให้ทุกคนในองค์กรได้รับรู้  เพื่อเป็นการให้เกียรติคนที่ทำความดี  ด้วยหลักทฤษฎีที่ได้เรียนมาก็ถือว่า  เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง  แต่ในภาคปฏิบัติลงในรายละเอียดในแต่ละเรื่อง  อาจจะต้องพิจารณาถึงผลดี  และผลเสียที่จะตามมาอีกด้วย  ผู้เขียนอยากจะให้แง่คิด วิธีปฏิบัติในแต่ละเรื่อง  ที่เกิดขึ้นสำหรับพนักงานในองค์กร  เช่น  พนักงานเก็บสิ่งของที่เป็นของคนอื่นได้  ในลักษณะนี้บริษัทควรจะยกย่องพนักงานที่มีการปฏิบัติที่ดี  สมควรเอาให้พนักงานคนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีได้  ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าว  ผู้บริหารองค์กรบางแห่ง  นำข้อมูลพนักงานที่กระทำความดีทั้งปี  มาเป็นข้อมูลในการพิจารณาความดี ความชอบ  โดยการพิจารณาการขึ้นเงินเดือน และการจ่ายโบนัสประจำปีด้วย  ก็จะเป็นการกระตุ้นให้พนักงานภายในองค์กร  ได้มีแรงจูงใจในการกระทำความดี  ถึงแม้จะมีผลประโยชน์มาเป็นสิ่งล่อใจก็ตาม  เพราะผลที่บริษัทได้รับจะคุ้มค่ามากกว่า  โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการบริการ  ย่อมต้องใส่ใจต้องผู้มารับบริการ  ถ้าสิ่งของที่ลูกค้าลืมไว้แล้วเกิดการสูญหาย  ย่อมส่งผลต่อภาพพจน์ต่อลูกค้าอย่างแน่นอน  จะเห็นได้ว่าสิ่งที่พนักงานได้กระทำความดีในลักษณะดังกล่าว  ผู้บริหารองค์กรควรยกย่อง ชมเชยต่อหน้าสาธารณะชน  ต้องกระทำในทันที  เพื่อให้เห็นถึงความใส่ใจ และคุณค่าของพนักงาน

สำหรับกรณีที่พนักงานที่เป็นคนเก่งหรือ Talent ขององค์กรล่ะ  ผู้บริการองค์กรจะกระทำในลักษณะเดียวกันได้หรือไม่  จะทำการประกาศให้พนักงานทุกคนได้รับทราบและมอบของรางวัลให้กับพนักงานที่เข้าข่ายนี้ได้หรือไม่  ผู้บริหารองค์กรแต่ละแห่งได้มีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป  เพราะว่าตามหลักทฤษฎีแล้วบอกว่า  ใครทำความดีควรจะได้รับการยกย่อง  ชมเชย  ควรจะยึดถือปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน  ผู้เขียนได้เป็นที่ปรึกษาองค์กรแห่งหนึ่งผู้บริหารได้เล่าให้ฟังว่า  เขาได้ตัดสินใจที่จะนำเงินที่เป็นค่าคอมมิสชั่นรวมของแต่ละเดือนที่ได้มาก้อนหนึ่ง  นำมาแบ่งเป็นส่วนๆ  แล้วนำเงินนั้นไปให้กับพนักงานที่เป็นคนเก่งประจำหน่วยงาน ให้ได้รับสองส่วน  ซึ่งมากว่าพนักงานคนอื่น  ผลปรากฏว่าหน่วยงานดังกล่าวที่พนักงานมีความรักสามัคคีกันเป็นอย่างดี  เกิดปัญหามีความขัดแย้งภายในหน่วยงานขึ้นมาทันที   จึงเกิดมุมมองที่ไม่น่าเป็นไปได้สำหรับหน่วยงานแห่งนี้  ผู้บริหารก็ไม่ได้ละความพยายาม  ได้เข้าไปสอบถามพนักงานในหน่วยงานที่มีปัญหาว่า  ทำไมถึงเกิดความขัดแย้งกัน  จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า  พนักงานที่อยู่หน่วยงานดังกล่าวนี้ได้แบ่งหน้าที่งานกันทำด้วยความสมัครใจ  โดยการมองว่าถ้าพนักงานคนใดที่ขายเก่งและเชียร์ลูกค้าได้ดี  ก็มอบหมายให้พนักงานคนนั้นอยู่หน้าร้าน  เพื่อคอยต้อนรับและบริการลูกค้าหน้าร้าน   และสำหรับพนักงานอื่นๆ  ที่อยู่ภายในหน่วยงานเดียวกัน  บางคนก็รับอาสาไปทำหน้าที่ซื้อเสบียงอาหารไว้ให้กับเพื่อนที่อยู่หน้าร้าน  และมีพนักงานอีกส่วนหนึ่งมีหน้าที่จัดของ เรียงสินค้าให้เกิดความสวยงาม  ลูกค้ามองมาแล้ว  มีความสะอาด  น่าซื้อ สินค้าไม่บกพร่อง  ก็จะอยู่บริเวณหลังร้าน  เมื่อผู้บริหารมาเยี่ยมร้านแต่ละครั้งมักจะเห็นน้องที่ทำหน้าที่ขายและบริการอยู่เป็นประจำ  ไม่เคยเห็นเพื่อนร่วมงานคนอื่นเข้ามาทำหน้าที่ช่วยขายเลย  จึงเกิดความรู้สึกว่า ต้องคิดวิธีการที่จะให้ค่าตอบแทนพนักงานที่ทำหน้าที่อยู่หน้าร้าน  ให้ได้ค่าคอมมิสชั่นที่ลูกค้าให้มาแต่ละเดือน  ให้ได้จำนวนมากกว่าพนักงานคนอื่นภายในหน่วยงาน   จึงเกิดความรู้สึกไม่ดีกับพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในหน่วยงานเดียวกัน  เพื่อนๆมองว่าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่หน้าร้าน  นำข้อมูลไปฟ้องเจ้านาย  จึงเกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้นมา   การกระทำที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า  พนักงานที่เป็นพนักงานขายหน้าร้านไม่ได้มีพฤติกรรมดั่งที่เพื่อนๆได้กล่าวหามาเลย  แต่กลับถูกเพื่อนๆ ภายในหน่วยงาน  ไม่พูดด้วย

สิ่งที่ผู้บริหารได้เห็นและลงมือปฏิบัติในขณะเดียวกัน  จะทำให้พนักงานที่มีความเป็นทีมอยู่แล้ว  เกิดความขัดแย้งภายในหน่วยงานขึ้นมาได้ จากตัวอย่างที่ได้ยกมาเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ  สำหรับผู้บริหารองค์กร  ให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการที่ตัดสินใจอะไรลงไป  ต้องคิดเสมอว่า  จะมีผลกระทบถึงพนักงานที่เป็นทีมงานด้วยหรือไม่  จากกรณีที่พนักงานซึ่งถูกประเมินจากผู้บริหารว่าเป็น Talent ขององค์กรก็เช่นกัน  การที่ผู้บริหารจะทำการประกาศให้พนักงานทุกคนได้รับทราบทั่วทั้งบริษัท  จะทำให้เกิดปัญหาในลักษณะตัวอย่างดังกล่าวตามมาเช่นกัน  ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวมานั้น  ต้องบอกไว้ก่อนว่า เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นบริษัทแบบไทยๆ  ไม่ได้ปลูกฝังวัฒนธรรมแบบเมืองนอกเข้ามา  การบริหารจัดการจึงควรเน้นแบบไทยๆ  ที่พนักงานในองค์กรยอมรับได้ และยึดถือปฏิบัติได้

เมื่อแนวคิดปฏิบัติเป็นแนวทางในลักษณะนี้  คำถามที่ตามมาจากผู้บริหารองค์กร ก็จะเกิดคำถามอีกว่า แล้วจะทำอย่างไรให้พนักงานที่เป็น Talent ได้รับทราบว่า  เขาคือพนักงานที่เป็นคนเก่งขององค์กร  ผู้บริหารก็ต้องหาวิธีการสื่อสารกับพนักงานที่เป็น Talent ในลักษณะที่เป็นส่วนตัวหรือกลุ่มพนักงาน Talent  เพื่อให้ทราบว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อกลุ่มพนักงานดังกล่าว  โดยการพัฒนาฝึกอบรม  ให้ทุนการศึกษาต่อ   การให้ไปดูงาน  การประชุมนอกสถานที่  จนกระทั่งได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในอนาคต