วัฒนธรรมองค์การ เป็นตัวขับเคลื่อนองค์การที่สำคัญและเป็นพลังอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น หรือไม่ก็เป็นตัวขัดขวางเสียเอง วัฒนธรรมประกอบด้วยทัศนคติ ค่านิยม บรรทัดฐาน ประเพณี สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติกันมา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่บอกแต่ละคนในองค์การว่าควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร พูดคุยสื่อสารกับคนอื่นอย่างไร และตัดสินใจอย่างไร ในการที่จะทำให้พนักงานดึงศักยภาพออกมาใช้ได้สูงสุดนั้น องค์กรต้องสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเอื้อต่อบุคคลากรในการมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่าง

การเทียบเคียงตู้ปลาสองตู้ที่ตั้งอยู่คู่กัน ทั้งสองตู้นี้ดูจะเหมือนกัน แต่เมื่อสังเกตใกล้ๆ จะพบว่าตู้หนึ่งนั้นมีปลาอาศัยค่อนข้างหนาแน่น ซึ่งบางครั้งผู้ที่เป็นเจ้าของอาจไม่ค่อยให้อาหารปลาอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ค่อยได้ทำความสะอาดตู้ปลามากพอ แถมค่ากรดด่างไม่สมดุล จึงส่งผลให้ปลาไม่ค่อยเคลื่อนไหว มีความเชื่องช้าและมีสุขภาพไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

ส่วนอีกตู้หนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กลับพบว่าสะอาดกว่า และมีจำนวนปลาน้อยกว่าโดยมีอาหารเพียงพอ ค่ากรด ด่าง อยู่ในระดับสมดุล ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต ปลามีสีสันสดใส ปลาจะว่ายไปมาอย่างกระฉับกระเฉง และมีชีวิตชีวาตลอดจนสนใจสภาพแวดล้อมรอบๆ ที่อาศัยอยู่

ในทางกลับกันถ้าเราเอาปลาที่เชื่องช้า สุขภาพไม่ค่อยดีมาจากตู้ปลาสกปรก ปล่อยลงในตู้สะอาด ไม่นานนักเราก็จะเริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ปลาจะเริ่มมีสุขภาพดีขึ้น นั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมและปลาอื่นๆ ที่มีสุขภาพสมบูรณ์รอบๆ ตัวมัน หลักการเดียวกันนี้เป็นจริงสำหรับมนุษย์เรา ไม่ว่าคนในองค์การจะมีความรู้และทักษะอย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมที่ล้อมรอบตัวอยู่ จะส่งผลให้เป็นทางลบหรือทางบวกต่อพฤติกรรมพนักงาน ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการเพิ่มผลผลิต ความคิดสร้างสรรค์ และสภาพความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้นเสมอ ยิ่งถ้าวัฒนธรรมขององค์การนั้นไม่ช่วยสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างอิสระเสรีด้วยนวัตกรรมและความคิดริเริ่มด้วยแล้ว พนักงานก็จะเชื่องช้าและจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว เหมือนกับปลาในตู้สกปรก   ถ้าองค์การหรือบริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานมีวัฒนธรรมองค์การที่เหมาะสมหรือเข้มแข็ง ก็จะทำให้เกิดความมุ่งมั่นและพันธะผูกพัน กลายเป็นองค์การที่น่าอยู่ เหมือนกับตู้ปลาที่สะอาด มีจำนวนปลาน้อย และอาหารเพียงพอต่อความต้องการ ทำให้พนักงานเกิดความมั่นใจ มีสุขภาพจิตดี มีความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า จึงส่งผลให้องค์การดังกล่าวมีความเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งสามารถมุ่งสู่ความเป็นเลิศได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ถ้ามามองถึงองค์การ ซึ่งเปรียบเสมือนตู้ปลาที่สะอาด มีสภาพแวดล้อมที่ดี และอาหารเพียงพอ การที่พนักงานจะตัดสินใจเดินจากองค์การไปย่อมทำใจลำบาก เพราะว่าการที่จะออกไปหาองค์การที่มีคุณสมบัติในลักษณะนี้ก็ค่อนข้างหายาก ยิ่งพนักงานที่ทำงานในองค์การเกินกว่า 3 ปีแล้ว มีครอบครัวอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับสถานที่ทำงานอยู่ด้วยแล้ว ย่อมคิดหนักที่จะตัดสินใจลาออกจากองค์การนี้ไป ผู้บริหารควรจะให้ความสนใจ เรื่องของสภาพความเป็นอยู่ ของพนักงาน โดยศึกษาวัฒนธรรมองค์การของท่านให้ท่องแท้เสียก่อนว่า พนักงานในองค์การมีความรู้สึกอย่างไรต่อผู้บริหารและองค์การ เพื่อจะได้วางแผนการสื่อสารให้กับพนักงาน เข้ามารับฟังความคิดเห็น และวางแนวทางการแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น ตามที่ได้ข้อมูลจากพนักงานมา หลังจากนั้น ทำการประเมินผลซ้ำ เพื่อดูว่าปัญหาที่พนักงานมีได้รับการแก้ไขไปหรือยัง หรือมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ ซึ่งการการะทำในลักษณะอย่างนี้ ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมการดูแลคน ให้มีความสอดคล้องกันทั้งระบบ โดยเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงระดับหัวหน้าแผนกที่ดูแลพนักงานระดับล่าง พนักงานที่ได้รับการดูแลก็จะรู้สึกว่า ตัวเขาเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ เสมือนหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน ยิ่งทำให้เกิดความผูกพันมากยิ่งขึ้น